การขับโซเดียมทางปัสสาวะ ความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือด และการเสียชีวิต
Lancet. 2018;392(10146):496-506.
บทความเรื่อง Urinary Sodium Excretion, Blood Pressure, Cardiovascular Disease, and Mortality: A Community-Level Prospective Epidemiological Cohort Study รายงานว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2 กรัม/วัน เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังไม่มีประเทศใดสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คำแนะนำดังกล่าวอ้างอิงจากข้อมูลระดับบุคคลจากการศึกษาระยะสั้นซึ่งประเมินความดันโลหิตโดยที่ไม่มีข้อมูลที่ชี้ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโซเดียมในปริมาณน้อยและการลดลงของเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการศึกษาเปรียบเทียบหรือการศึกษาเชิงสังเกต คณะผู้ศึกษาวิจัยจึงประเมินความสัมพันธ์ระหว่างค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมและโพแทสเซียมในระดับชุมชน โรคหัวใจและหลอดเลือด และการเสียชีวิต
การศึกษา Prospective Urban Rural Epidemiology กำลังดำเนินการศึกษาอยู่ใน 21 ประเทศ ซึ่งในบทความนี้ผู้ศึกษาวิจัยได้รายงานผลลัพธ์ทางคลินิกจากการวิเคราะห์ใน 18 ประเทศ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเป็นผู้ใหญ่อายุ 35-70 ปี ซึ่งไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยคัดเลือกจากกลุ่มประชากรทั่วไป ผู้วิจัยใช้ตัวอย่างปัสสาวะก่อนรับประทานอาหารเช้าประเมินระดับการขับโซเดียมและโพแทสเซียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง เพื่อแทนค่าโซเดียมและโพแทสเซียมที่บริโภค นอกจากนี้ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโซเดียมและโพแทสเซียมในระดับชุมชนกับความดันโลหิตใน 369 ชุมชน (กลุ่มตัวอย่าง > 50 คน) รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดและการเสียชีวิตใน 255 ชุมชน (กลุ่มตัวอย่าง > 100 คน) และปรับตัวแปรกวนตามข้อมูลระดับบุคคล
การศึกษาได้ประเมินความดันโลหิตในกลุ่มตัวอย่าง 95,767 คนจาก 369 ชุมชน และประเมินผลลัพธ์ด้านหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มตัวอย่าง 82,544 คนใน 255 ชุมชน โดยมีมัธยฐานการตรวจติดตาม 8.1 ปี จากการศึกษาพบว่า 82 ชุมชน (ร้อยละ 80) จาก 103 ชุมชนในจีนมีค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมสูงกว่า 5 กรัม/วัน ข้อมูลในประเทศอื่นรายงานว่า 224 ชุมชน (ร้อยละ 84) จาก 266 ชุมชนมีค่าเฉลี่ยการบริโภค 3-5 กรัม/วัน โดยรวมพบว่าค่าเฉลี่ยความดันซิสโตลิกสูงขึ้น 2.86 มิลลิเมตรปรอทต่อค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมที่เพิ่มขึ้นทุก 1 กรัม แต่พบความสัมพันธ์เชิงบวกเฉพาะในชุมชนที่มีการบริโภคโซเดียมสูงสุด (p < 0.0001 สำหรับความต่าง) ความสัมพันธ์ระหว่างค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมและเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงมีความเบี่ยงเบนอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.043) อันเป็นผลจากความสัมพันธ์แบบกลับที่มีนัยสำคัญในกลุ่มที่บริโภคโซเดียมต่ำสุด (tertile ต่ำสุด < 4.43 กรัม/วัน, ค่าเฉลี่ยการบริโภค 4.04 กรัม/วัน, พิสัย 3.42-4.43, การเปลี่ยนแปลง -1.00 เหตุการณ์ต่อ 1.000 ปี, 95% CI -2.00 ถึง -0.01; p = 0.0497) ไม่พบความสัมพันธ์ใน tertile กลาง (tertile กลาง 4.43-5.08 กรัม/วัน, ค่าเฉลี่ยการบริโภค 4.70 กรัม/วัน, 4.44-5.05, การเปลี่ยนแปลง 0.24 เหตุการณ์ต่อ 1,000 ปี, -2.12 ถึง 2.61; p = 0.8391) และความสัมพันธ์เชิงบวกแต่ไม่มีนัยสำคัญใน tertile สูงสุด (tertile สูงสุด > 5.08 กรัม/วัน, ค่าเฉลี่ยการบริโภค 5.75 กรัม/วัน, > 5.08-7.49, การเปลี่ยนแปลง 0.37 เหตุการณ์ต่อ 1,000 ปี, -0.03 ถึง 0.78, p = 0.0712) จากการศึกษาพบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญกับสโตรคในจีน (ค่าเฉลี่ยการบริโภค 5.58 กรัม/วัน, 0.42 เหตุการณ์ต่อ 1,000 ปี, 95% CI 0.16-0.67, p = 0.0020) เทียบกับในประเทศอื่น (4.49 กรัม/วัน, -0.26 เหตุการณ์, -0.46 ถึง -0.06; p = 0.0124; p < 0.0001 สำหรับความต่าง) ผลลัพธ์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงทั้งหมดลดลงตามการบริโภคโพแทสเซียมที่สูงขึ้นในทุกประเทศ
การบริโภคโซเดียมสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือดและสโตรคเฉพาะในชุมชนที่มีค่าเฉลี่ยการบริโภคสูงกว่า 5 กรัม/วัน ซึ่งแผนลดการบริโภคโซเดียมในชุมชนและประเทศที่มีค่าเฉลี่ยสูงดังกล่าวน่าจะมีความเหมาะสม