ถ้ำหลวง: ความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่
ถ้ำจัดเป็นสถานที่ที่จัดว่าเป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ เพราะระบบนิเวศที่แตกต่างจากบริบทที่มนุษย์อาศัยอยู่ สภาวะแวดล้อมภายในถ้ำจะคงที่เนื่องจากไม่มีสิ่งรบกวนจากภายนอก การไม่มีแสงแดดส่องถึงทำให้มีสัตว์บางชนิดที่อาศัยอยู่ในถ้ำที่เป็นแหล่งรังโรคของเชื้อโรคต่าง ๆ และไม่เคยปรากฏที่ใด โดยเฉพาะค้างคาว สัตว์ฟันแทะ และแมลงชนิดต่าง ๆ เช่น ริ้นฝอยทราย หากมีมนุษย์ไปสัมผัสหรืออยู่ในถ้ำนาน ๆ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่ได้
จากการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดการเสวนาวิชาการเรื่อง “ถ้ำหลวง: ความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่” โดยมี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์เชี่ยวชาญสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาครั้งนี้ โดยมี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์
สำหรับเชื้อโรคที่พบได้ในสัตว์รังโรคในถ้ำ ได้แก่ 1. ค้างคาว ซึ่งอาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ที่พบได้ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไวรัสโคโรนา และไวรัสนิปาห์ ส่วนที่พบในแอฟริกา ได้แก่ ไวรัสมาร์เบอร์ก และไวรัสอีโบลา นอกจากนี้มูลค้างคาวยังมีเชื้อรา Histoplasma ที่ก่อให้เกิดโรคในคนได้ด้วย 2. สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อ Leptospira ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซิส นอกจากนี้ หมัดหนูเป็นแหล่งโรคไทฟัส 3. แมลงต่าง ๆ ที่เป็นแมลงนำโรค เช่น ยุงก้นปล่องนำเชื้อมาลาเรีย ริ้นฝอยทราย นำโรค Leishmaniasis และ 4. สิ่งแวดล้อม เช่น ดิน หรือน้ำ ที่เป็นแหล่งโรคของแบคทีเรีย โปรโตซัว และเชื้อราต่าง ๆ เช่น เมลิออยโดสิส เป็นต้น
ในภาวะปกติหากมนุษย์จะเข้าไปในถ้ำต้องใส่ชุดป้องกันตนเอง แต่ในภาวะที่ต้องเข้าไปปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ที่ติดในถ้ำนั้นอาจทำให้การป้องกันตัวเองไม่ได้สมบูรณ์มากนัก ดังนั้น การเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยในกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในถ้ำจะเป็นการช่วยวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ในระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา การติดตามไวรัสจากสัตว์ป่าโดยเฉพาะค้างคาวในประเทศไทยจากความร่วมมือของสภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), โครงการ PREDICT USAID, โครงการ CBEP DTRA กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ทำให้ทราบถึงสถานะพิเศษที่สัตว์ป่าสามารถเป็นตัวเพาะบ่มเชื้อโรคโดยไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อเหล่านี้ออกมาได้ในรูปของสิ่งคัดหลั่ง มูล น้ำลาย โดยตรง หรือเกาะติดอยู่ตามพื้นและผนังถ้ำ ขั้นตอนของการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนจะต้องมีการสมยอมของคนในการรับเชื้อเข้าร่างกายก่อน และต่อมาลำดับที่สองจากกลไกของเชื้อและคนจะนำไปสู่การเกิดอาการหรือไม่ หรือมีอาการน้อย หรืออาการรุนแรง และจะเกิดขึ้นจำเพาะที่ระบบเดียว เช่น ที่สมอง หรือที่ปอด หรือที่ตับและในระบบเลือด หรือจะเกิดขึ้นในหลาย ๆ ระบบพร้อมกัน
เชื้อที่กล่าวมามีทั้งประเภทที่คนสมยอมและพิสูจน์แล้วว่าเกิดโรคร้ายแรงได้ รวมทั้งสามารถแพร่กระจายในวงกว้าง เช่น ไวรัส ตระกูลเมอร์ส ซาร์ส อีโบลา นิปาห์ แบคทีเรีย และปรสิต ที่มาจากเห็บ ยุง ไร ริ้น กระบวนการเกิดโรคอาจปรากฏในลักษณะเฉียบพลัน หรือทอดเวลายาวออกไปจึงจะเกิดอาการเนื่องจากมีการซ่อนเร้นอยู่ในระบบใดระบบหนึ่ง ส่วนผลในระยะยาวอาจเกิดจากการที่เชื้อที่คนสมยอมให้อยู่ในร่างกายโดยที่แทบไม่มีอาการเลยถูกปล่อยผ่านไปยังคนอื่นไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านโดยตรงหรือผ่านทางตัวนำอื่น ๆ ในกรณีนี้เชื้อจะมีวิวัฒนาการพัฒนาตัวเองในทางเกิดโรคได้เก่งขึ้น รุนแรงขึ้น ติดต่อได้ง่ายขึ้น
ด้วยข้อมูลดังกล่าวและจากการที่ได้ทำงานประสานกันมาอย่างยาวนานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (TRC-EID) โดยประสานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทางด้านสัตว์ป่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) ฝ่ายไทย ฝ่ายอเมริกา กระทรวงกลาโหม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังที่ประสบความสำเร็จในการวินิจฉัยผู้ป่วยเมอร์สรายแรก การตรวจคัดกรองโรคอีโบลา จึงสามารถวางแผนปฏิบัติการสำหรับผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำ ผู้ที่ทำงานกู้ชีพในระดับความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลากิจกรรมปฏิบัติ
การตรวจหาเชื้อควบรวมทั้งเชื้อที่ยังไม่เคยระบาดถึงคน โดยเฉพาะไวรัสที่อยู่ในสัตว์ป่า ค้างคาว จะมีไวรัสที่อยู่ในตระกูลต่าง ๆ ไม่มีใครรู้จัก อีกทั้งกระทรวงกลาโหม ร่วมกับภาควิชาจุลชีววิทยา และภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน่วยงานสำรวจเชื้อโรคต่าง ๆ ในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ หนู ค้างคาว เห็บ ไร ริ้น ตามบริเวณแนวตะเข็บชายแดนที่มีหน่วยทหารลาดตระเวน เป็นข้อมูลการสำรวจเก็บไว้ ทำให้ไทยเรามีแผนที่สำหรับเชื้อโรคทางภูมิศาสตร์และฤดูกาล
สุขภาพของคน-สัตว์-สภาวะแวดล้อม-นิเวศวิทยา-ดินฟ้าอากาศ-การเปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ ส่งผลต่อสุขภาพ รวมทั้งการเกิดโรคระบาด การมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ แมลง เชื้อ ย่อมจะทำให้สามารถทำนายตระเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคที่จะเกิดขึ้นจากเชื้อใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือ มนุษย์ไม่เคยเจอะเจอเชื้อและไม่เคยมีภูมิคุ้มกันแต่ต้น เมื่อเกิดติดเชื้อก็จะมีอาการและแพร่ได้ในวงกว้าง จากวัฏจักรที่ว่า ถ้าจะทำให้ระบบโลกเดียว-สุขภาพเดียว เป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์เต็ม ต้องมีการบูรณาการการทำงานของคนในทุกสาขา ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม สัตว์ แมลง หมอ สัตวแพทย์ ระบาดวิทยา สังคม ศึกษาผลและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และที่สำคัญคือ ต้องมีการสื่อสารความเสี่ยงให้กับพื้นที่และประชาชนเพื่อให้ป้องกันตัวได้ทันท่วงทีและรายงานด้วยความเต็มใจไม่ต้องมีใครบังคับมายังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และต้องมีการควบรวมวิทยาศาสตร์และสาขาอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ความประสานร่วมมือเหล่านี้ยังเชื่อมโยงไปถึงองค์กรต่าง ๆของสหรัฐอเมริกา อาทิ โครงการ PREDICT USAID, โครงการ CBEP DTRA กระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้คำแนะนำเทคโนโลยี อีกทั้งทุนในการพัฒนาห้องปฏิบัติการและเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของ TRC-EID
ในการปฏิบัติการครั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกลุ่มสอบสวน ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขฯ สำนักระบาดวิทยา ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังเจ้าหน้าที่กู้ภัยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดภายในถํ้าหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย และเก็บตัวอย่างของผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากการอาศัยหรือปฏิบัติงานอยู่ในถ้ำเป็นเวลานาน เพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่มีโอกาสติดจากถ้ำที่ครอบคลุมทุกระบบของร่างกายและครอบคลุมกลุ่มโรคทุกชนิดจากความร่วมมือของห้องปฏิบัติการเครือข่าย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทุกคนจะปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคจากสัตว์สู่คนหรือโรคอุบัติใหม่ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ใด ๆ ในผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้าไปช่วยเหลือ นับเป็นความสำเร็จของการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ของประเทศไทยอีกก้าวหนึ่งที่สามารถผนึกกำลังเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงของโรคติดต่อได้อย่างฉับไวและทันเวลา
tunceli escort