ผลลัพธ์ Amitriptyline โด๊สต่ำสำหรับปวดหลังส่วนล่าง
JAMA Intern Med. 2018;178(11):1474-81.
บทความเรื่อง Efficacy of low-dose amitriptyline for chronic low back pain: a randomized clinical trial รายงานว่า การให้ยาต้านซึมเศร้าโด๊สต่ำใช้กันทั่วไปสำหรับการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง และได้รับการแนะนำในแนวทางเวชปฏิบัติของหลายสมาคมแม้ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่ามีประสิทธิภาพ
คณะผู้ศึกษาวิจัยประเมินประสิทธิภาพของยาต้านซึมเศร้าโด๊สต่ำและยาที่นำมาใช้เปรียบเทียบสำหรับลดอาการปวด ภาวะทุพพลภาพ การขาดงาน และอุปสรรคในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง ผู้ป่วยได้รับ amitriptyline โด๊สต่ำ (25 มิลลิกรัม/วัน) หรือยาเปรียบเทียบ (benztropine mesylate 1 มิลลิกรัม/วัน) เป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความรุนแรงของอาการปวดประเมินที่ 3 และ 6 เดือน ตาม visual analog scale และDescriptor Differential Scale ผลลัพธ์รอง ได้แก่ ภาวะทุพพลภาพประเมินจาก Roland Morris Disability Questionnaire รวมถึงการขาดงานและอุปสรรคประเมินจากShort Form Health and Labour Questionnaire
มีผู้ป่วย 118 ราย (ร้อยละ 81) ที่เสร็จสิ้นการตรวจติดตามที่ 6 เดือนจากผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่มทั้งสิ้น 146 ราย (เป็นชาย 90 ราย [ร้อยละ 61.6]; ค่าเฉลี่ย [SD] อายุเท่ากับ 54.8 [13.7] ปี) การรักษาด้วย amitriptyline โด๊สต่ำไม่ได้ลดอาการปวดได้ดีกว่ายาเปรียบเทียบที่ 6 เดือน (adjusted difference เท่ากับ -7.81; 95% CI -15.7 ถึง 0.10) หรือ 3 เดือน (adjusted difference เท่ากับ -1.05; 95% CI -7.87 ถึง 5.78) โดยไม่เป็นผลจากระดับอาการปวดเมื่อเริ่มต้นการศึกษา จากการศึกษาไม่พบความต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติด้านอาการทุพพลภาพระหว่างทั้ง 2 กลุ่มที่ 6 เดือน (adjusted difference เท่ากับ -0.98; 95% CI -2.42 ถึง 0.46) อย่างไรก็ดี พบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้านอาการทุพพลภาพในกลุ่มที่ได้รับ amitriptyline โด๊สต่ำที่ 3 เดือน (adjusted difference เท่ากับ -1.62; 95% CI -2.88 ถึง -0.36) นอกจากนี้ไม่พบความต่างระหว่างกลุ่มด้านการขาดงานที่ 6 เดือน (adjusted difference ด้านการขาดงาน: 1.51; 95% CI 0.43-5.38; ด้านอุปสรรค: 0.53; 95% CI 0.19-1.51) หรือ 3 เดือน (adjusted difference ด้านการขาดงาน: 0.86; 95% CI 0.32-2.31; ด้านอุปสรรค: 0.78; 95% CI 0.29-2.08) หรือจำนวนอาสาสมัครที่ถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (9 ราย [ร้อยละ 12] ในแต่ละกลุ่ม; X2 = 0.004; p = 0.95)
ข้อมูลจากการศึกษาเสนอแนะว่า amitriptyline อาจเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง แม้ผู้ป่วยไม่มีผลลัพธ์ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 6 เดือน แต่พบว่าผู้ป่วยมีภาวะทุพพลภาพลดลงที่ 3 เดือน มีอาการปวดลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญที่ 6 เดือน และมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นน้อยในทั้ง 2 กลุ่ม ดังนั้น จึงอาจพิจารณา amitriptyline โด๊สต่ำกรณีมี opioid เป็นทางเลือกเดียว