ดื่มน้ำลดติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในหญิงก่อนวัยทอง
JAMA Intern Med. 2018;178(11):1509-15.
บทความเรื่อง Effect of increased daily water intake in premenopausal women with recurrent urinary tract infections: a randomized clinical trial รายงานว่า แพทย์มักแนะนำให้ผู้หญิงที่มีประวัติกระเพาะปัสสาวะดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ แต่หลักฐานที่สนับสนุนคำแนะนำดังกล่าวยังคงมีจำกัด คณะผู้ศึกษาวิจัยจึงได้ประเมินผลของการดื่มน้ำให้มากขึ้นต่อความถี่ของการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นซ้ำในผู้หญิงก่อนหมดประจำเดือน
คณะผู้วิจัยดำเนินการศึกษาสุ่มเปรียบเทียบระยะ 12 เดือนในผู้หญิง 163 รายซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงและมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นซ้ำ (≥ 3 ครั้งในปีที่ผ่านมา) และดื่มน้ำน้อยกว่าวันละ 1.5 ลิตร ผู้วิจัยคัดอาสาสมัคร 23 รายออกจากการศึกษา และสุ่มอาสาสมัคร 140 รายเพิ่มการดื่มน้ำอีกวันละ 1.5 ลิตร หรือไม่เพิ่มการดื่มน้ำ (กลุ่มควบคุม) เป็นเวลา 12 เดือน โดยประเมินปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวัน ปริมาณปัสสาวะ และอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เริ่มต้นการศึกษาและการติดตาม 6 และ 12 เดือน รวมถึงการติดตามทางโทรศัพท์เดือนละครั้ง ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความถี่ของกระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นซ้ำตลอดระยะ 12 เดือน ผลลัพธ์รอง ได้แก่ จำนวนยาปฏิชีวนะที่ใช้ ค่าเฉลี่ยช่วงเวลาระหว่างเหตุการณ์ของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และปริมาณปัสสาวะในระยะ 24 ชั่วโมง
ค่าเฉลี่ยอายุ (SD) ของอาสาสมัครทั้ง 140 ราย เท่ากับ 35.7 (8.4) ปี และค่าเฉลี่ย (SD) จำนวนเหตุการณ์ของกระเพาะปัสสาวะอักเสบในปีก่อนเท่ากับ 3.3 (0.6) ค่าเฉลี่ย (SD) จำนวนเหตุการณ์ของกระเพาะปัสสาวะอักเสบเท่ากับ 1.7 (95% CI 1.5-1.8) ในกลุ่มที่เพิ่มการดื่มน้ำเทียบกับ 3.2 เหตุการณ์ (95% CI 3.0-3.4) ในกลุ่มควบคุม โดยมีความต่างค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.5 (95% CI 1.2-1.8; p < 0.001) ระหว่างระยะการศึกษา 12 เดือน โดยรวมพบกระเพาะปัสสาวะอักเสบ 327 เหตุการณ์ ซึ่งพบในกลุ่มที่เพิ่มการดื่มน้ำ 111 เหตุการณ์ และกลุ่มควบคุม 216 เหตุการณ์ ค่าเฉลี่ยจำนวนยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบเท่ากับ 1.9 (95% CI 1.7-2.2) และ3.6 (95% CI 3.3-4.0) ตามลำดับโดยมีความต่างค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.7 (95% CI 1.3-2.1; p < 0.001) ค่าเฉลี่ยช่วงเวลาระหว่างเหตุการณ์ของกระเพาะปัสสาวะอักเสบเท่ากับ 142.8 วัน (95% CI 127.4-160.1) และ 84.4 วัน (95% CI 75.4-94.5) ตามลำดับ โดยมีความต่างค่าเฉลี่ยเท่ากับ 58.4 วัน (95% CI 39.4-77.4; p < 0.001) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่าอาสาสมัครในกลุ่มเพิ่มการดื่มน้ำมีค่าเฉลี่ย (SD) ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าของปริมาณปัสสาวะ (1.4 [0.04] vs 0.1 [0.04] L; p < 0.001) และการถ่ายปัสสาวะ (2.4 [0.2] vs -0.1 [0.2]; p < 0.001) และ urine osmolality ที่ลดลงมากกว่า (-42.8 [19.6] vs -24.0 [19.5] mOsm/kg; p < 0.001) ระหว่างเริ่มต้นการศึกษาจนถึง 12 เดือน
การดื่มน้ำเพิ่มขึ้นสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะและป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นซ้ำในหญิงก่อนวัยทองซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นซ้ำและดื่มน้ำน้อย