นักวิทยาศาสตร์พัฒนาวัสดุปิดแผลสุดล้ำ

นักวิทยาศาสตร์พัฒนาวัสดุปิดแผลสุดล้ำ

งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Advance Material นำเสนอวัสดุปิดแผลชนิดใหม่ที่ทำงานในด้านการสมานแผลของเนื้อเยื่อ

การติดเชื้อระหว่างการผ่าตัดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะสำหรับแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวานที่มักจะมีไบโอฟิล์มเกิดขึ้น ส่งผลให้การรักษาบาดแผลนั้นมีความยากลำบาก และอาจไปจบด้วยการต้องตัดแขนหรือขาของผู้ป่วย ในปัจจุบันมีผู้ป่วยแผลเรื้อรังประเภทนี้กว่า 5.7 ล้านคนทั่วสหรัฐอเมริกา

จากงานวิจัยล่าสุดนำโดย เบ็น อาล์มควิสท์ จาก Imperial College London ได้คิดค้นโมเลกุลชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า TrAP หรือ Traction Force-Activated Payloads ที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการรักษาของร่างกายตามธรรมชาติ โดยจะทำงานร่วมกับคอลลาเจนที่จะทำหน้าที่เป็นโครงเลี้ยงเซลล์ช่วยกระตุ้นการทำงานของโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ในการซ่อมแซมความเสียหายของเนื้อเยื่อตามธรรมชาติ

นักวิจัยได้ทำการปรับแต่งโมเลกุล TrAP โดยการยึดเข้ากับเซลล์และจะเคลื่อนที่ผ่านโครงสร้างคอลลาเจนไปพร้อมกับเซลล์ เป็นการกระตุ้นกระบวนการรักษาตามธรรมชาติของเนื้อเยื่อในบริเวณนั้น นักวิจัยชี้ว่าการใช้โมเลกุล TrAP นั้นมีความยืดหยุ่นในการใช้งานและสามารถประยุกต์ใช้กับการรักษาได้หลากหลายตั้งแต่โครงสร้างกระดูก การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากโรคหัวใจ หรือการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทจากโรคเบาหวาน โดยในปัจจุบันเทคนิคนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับมนุษย์ได้แล้ว