Dapagliflozin และ CV Outcomes ในเบาหวานชนิดที่ 2

Dapagliflozin และ CV Outcomes ในเบาหวานชนิดที่ 2

N Engl J Med. 2019;380:347-57.

            บทความเรื่อง Dapagliflozin and cardiovascular outcomes in type 2 diabetes รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ชัดเจนของ dapagliflozin ซึ่งเป็น selective inhibitor ของsodium-glucose cotransporter 2 ซึ่งกระตุ้นการขับน้ำตาลทางปัสสาวะในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

            คณะผู้ศึกษาวิจัยสุ่มให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีหรือเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้รับการรักษาด้วย dapagliflozin หรือยาหลอก ผลลัพธ์หลักด้านความปลอดภัย ได้แก่ ผลรวมของ major adverse cardiovascular events (MACE) ประเมินจากการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผลลัพธ์หลักด้านประสิทธิภาพ ได้แก่ MACE และผลรวมของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากหัวใจล้มเหลว  ผลลัพธ์รอง ได้แก่ ผลรวมของโรคไต (estimated glomerular filtration rate ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 40 มาที่ < 60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร การเกิดไตวายระยะสุดท้ายที่พบใหม่ หรือการเสียชีวิตจากสาเหตุด้านโรคไตหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด) และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ

            คณะผู้ศึกษาวิจัยประเมินผู้ป่วย 17,160 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 10,186 รายที่ไม่มีโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โดยมีมัธยฐานการติดตาม 4.2 ปี การวิเคราะห์ผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยชี้ว่า dapagliflozin ไม่ด้อยกว่ายาหลอกด้านอัตราของ MACE (upper boundary ของ 95% CI < 1.3; p < 0.001 สำหรับความไม่ด้อยกว่า) จากการวิเคราะห์ประสิทธิภาพพบว่า dapagliflozin ไม่ได้ลดอัตราของ MACE (ร้อยละ 8.8 ในกลุ่มที่ได้รับ dapagliflozin และร้อยละ 9.4 ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก; hazard ratio 0.93; 95% CI 0.84-1.03; p = 0.17) แต่ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากหัวใจล้มเหลว (ร้อยละ 4.9 เทียบกับร้อยละ 5.8; hazard ratio 0.83 95% CI 0.73-0.95; p = 0.005) โดยมีอัตราที่ต่ำกว่าสำหรับการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากหัวใจล้มเหลว (hazard ratio 0.73; 95% CI 0.61-0.88) อย่างไรก็ดี ไม่พบความต่างระหว่างทั้งสองกลุ่มด้านการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (hazard ratio 0.98; 95% CI 0.82-1.17) เหตุการณ์ของโรคไตเกิดขึ้นในร้อยละ 4.3 ของกลุ่มที่ได้รับ dapagliflozin และร้อยละ 5.6 ของกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (hazard ratio 0.76; 95% CI 0.67-0.87) และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเกิดขึ้นร้อยละ 6.2 และร้อยละ 6.6 ตามลำดับ (hazard ratio 0.93; 95% CI 0.82-1.04) อัตราการเกิด diabetic ketoacidosis สูงกว่าจาก dapagliflozin เทียบกับยาหลอก (ร้อยละ 0.3 เทียบกับร้อยละ 0.1; p = 0.02) เช่นเดียวกับอัตราของ genital infection ซึ่งนำไปสู่การหยุดยาหรือมีอาการรุนแรง (ร้อยละ 0.9 เทียบกับร้อยละ 0.1; p < 0.001)

            การรักษาด้วย dapagliflozin ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีหรือเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็งไม่ได้ทำให้อัตราของ MACE สูงขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับยาหลอก อย่างไรก็ดี dapagliflozin ลดอัตราของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากหัวใจล้มเหลวดังที่สะท้อนจากอัตราที่ต่ำกว่าของการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากหัวใจล้มเหลว