การติดเชื้อ Helicobacter pylori

การติดเชื้อ Helicobacter pylori

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

            การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยและมีแนวโน้มของอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นจากการที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาไปแล้วมีการกลับเป็นซ้ำหรือติดเชื้อใหม่ ปัจจัยในแง่ของความแออัดและการมีสภาพความเป็นอยู่เป็นปัจจัยที่สำคัญของการกระจายของเชื้อชนิดนี้

            โดยมากแล้วผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดนี้มักจะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใด ๆ โดยตรงแต่มักจะสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติอื่น ๆ เช่น non-ulcer dyspepsia และโรคแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer disease) ซึ่งจากหลักฐานการวิจัยพบว่าการรักษาด้วยการกำจัดเชื้อ H. pylori สามารถช่วยลดอาการและโรคต่าง ๆ ข้างต้นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกด้วยว่าการติดเชื้อ H. pylori มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (gastric cancer) เช่น การศึกษาที่ทำในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศพบว่าโรคมะเร็งกระเพาะอาหารพบได้ร้อยละ 2.9 ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรค peptic ulcer, dyspepsia หรือ gastric hyperplasia และมีการติดเชื้อ H. pylori ร่วมด้วย ในขณะที่ไม่พบมีผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในผู้ที่ไม่เกิดการติดเชื้อ H. pylori เลย ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจัดให้ H. pylori เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่มที่ 1 ซึ่งสัมพันธ์ชัดเจนกับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารชนิด gastric adenocarcinoma และ gastric mucosa-associated lymphoid tissue lymphoma (MALToma) สำหรับโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่มีข้อมูลสัมพันธ์กับการติดเชื้อ H. pylori ได้แก่ coronary artery disease, iron deficiency anemia และ immune thrombocytopenia แต่ในปัจจุบันยังไม่มีคำอธิบายถึงกลไกของความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ชัดเจน

แนวทางการดูแลรักษาการติดเชื้อ H. pylori

การตรวจคัดกรองและการวินิจฉัย

         ข้อบ่งชี้ในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ H. pylori และการรักษาหากตรวจพบว่าให้ผลบวกมีดังตารางที่ 1 การตรวจแบบ direct หรือ invasive histologic test ซึ่งต้องอาศัยการตรวจจากชิ้นเนื้อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารนั้นจะทำในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร เช่น มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่อย่างเรื้อรัง น้ำหนักลด มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผู้ป่วยที่มีอาการ dyspepsia ที่มีกลุ่มอาการเตือนอื่น ๆ (เช่น น้ำหนักลด ปวดท้องรุนแรง กลืนลำบาก อาเจียน มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น) และผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สำหรับในรายที่อยู่ในประเทศที่มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อชนิดนี้หรือมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูงก็สามารถพิจารณาทำการตรวจเมื่ออายุน้อยกว่านี้ก็ได้ ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหรือแนวทางเวชปฏิบัติในประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้การตรวจแบบ direct test ยังเหมาะจะใช้ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) หรือ aspirin เนื่องจากจะสามารถช่วยทำให้มั่นใจได้ว่าความผิดปกติในกระเพาะอาหารนั้นเป็นจากการใช้ยา ไม่ใช่จากการติดเชื้อ H. pylori

            การตรวจหาการติดเชื้อ H. pylori ทางพยาธิวิทยามีความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) สูงมากกว่า 95% ดังนั้น โดยมากแล้วจึงไม่จำเป็นต้องทำการตรวจซ้ำอีกหากผลการตรวจให้ผลลบ ยกเว้นในกรณีที่ต้องการตรวจว่ายังคงมีการติดเชื้ออยู่อีกหรือไม่ในรายที่ยังคงปรากฏว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหลังจากที่ได้รับการรักษาไปแล้ว หรือเพื่อติดตามการรักษาในรายที่ได้รับการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารหรือ MALToma ไปแล้ว

ตารางที่ 1 ข้อบ่งชี้ของการตรวจหาการติดเชื้อ Helicobacter pylori

  • ผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีประวัติเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ยกเว้นในรายที่เคยได้รับการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ H. pylori ไปแล้ว
  • ผู้ป่วยโรค gastric mucosa-associated lymphoid tissue lymphoma (MALToma) ชนิด low grade หรือผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้นผ่านการส่องกล้อง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการ dyspepsia ที่ยังไม่เคยได้รับการตรวจมาก่อน โดยแนะนำการตรวจ non-invasive test ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปีที่ไม่มีกลุ่มอาการสัญญาณเตือน เช่น น้ำหนักลด ปวดท้องรุนแรง กลืนลำบาก อาเจียน เลือดออกในทางเดินอาหาร สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือมีอาการสัญญาณเตือน แนะนำการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง (esophagogastroduodenoscopy)
  • มีประวัติการใช้ยา aspirin ระยะยาว
  • มีประวัติการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ระยะยาว
  • มีประวัติโรคโลหิตจางที่ไม่ปรากฏสาเหตุชัดเจนหลังจากที่ได้รับการสืบค้นเบื้องต้นแล้ว
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรค immune thrombocytopenia ในผู้ใหญ่
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาการติดเชื้อ H. pylori ไปแล้วเพื่อยืนยันว่าได้กำจัดเชื้อหมดแล้ว ทั้งนี้ควรทำการตรวจหลังจากที่ได้รับการรักษาครบแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน และผู้ป่วยไม่ได้ใช้ยากลุ่ม PPI

การตรวจในแบบ non-invastive test เพื่อค้นหาหลักฐานการติดเชื้อ ได้แก่ การตรวจ stool antigen test และ urea breath test ซึ่งสำหรับการตรวจ stool antigen test เป็นการใช้ monoclonal antibodies ต่อเชื้อ  H. pylori เพื่อตรวจหา antigen ของเชื้อ จะทำเพื่อการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้น และการตรวจเพื่อติดตามหลังจากที่ได้ให้การรักษาไปแล้ว ความไวและความจำเพาะของการตรวจชนิดนี้ก็สูงมากถึงกว่า 92% เช่นเดียวกัน ส่วนการตรวจ urea breath test นั้นเป็นการตรวจโดยการกลืนสาร urea ที่ติดสารกัมมันตรังสี 14C หรือ 13C เข้าไป ในรายที่ยังมีเชื้อ H. pylori เชื้อจะสร้างเอนไซม์ urease มาย่อยสาร urea และปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมาซึ่งสามารถทำการตรวจวัดและเปรียบเทียบกับค่าที่วัดได้ก่อนการรักษาได้ การตรวจนี้ก็มีความไวและความจำเพาะมากกว่า 95% เช่นกัน American College of Gastroenterology (ACG) ซึ่งได้เผยแพร่แนวทางปฏิบัติเอาไว้ในปี ค.ศ. 2017 ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าควรเลือกใช้การตรวจใดเป็นอันดับแรก แต่จากแนวทางปฏิบัติ Maastricht V-Florence guidelines แนะนำให้ใช้การตรวจ urea breath test มากกว่าการใช้ stool antigen testing เนื่องจากมีความแม่นยำมากกว่า อย่างไรก็ตาม การตรวจทั้งสองวิธีนั้นเป็นการตรวจที่แนะนำให้ใช้ในการยืนยันว่าสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้แล้วในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วทุกราย

แม้ว่ายาในกลุ่ม proton-pump inhibitors (PPIs) ไม่ได้มีฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อโดยตรง แต่การใช้ยาในกลุ่มนี้สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อ H. pylori ได้ ดังนั้น หากจะทำการตรวจเพื่อยืนยันความสำเร็จในการกำจัดเชื้อไม่ว่าด้วยวิธีใด ควรจะให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาในกลุ่มนี้ก่อนเสมอ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้หยุดยากลุ่ม PPIs ก่อนทำการตรวจอย่างน้อย 30 วัน ส่วนใน Maastricht V-Florence guidelines แนะนำการหยุดยาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ สำหรับยาในกลุ่ม histamine H2-receptor blockers นั้นสามารถใช้ต่อไปได้เนื่องจากไม่รบกวนผลการตรวจ และแนะนำให้ใช้สำหรับบรรเทาอาการในผู้ป่วยที่เกิดอาการแสบร้อนกลางอกหรือ dyspepsia ในระหว่างที่ต้องหยุดยากลุ่ม PPIs

            ในส่วนของการตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด IgG ต่อเชื้อ H. pylori นั้น ในปัจจุบันไม่แนะนำให้การตรวจเพื่อการวินิจฉัยการติดเชื้อในท้องที่ที่มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อน้อยกว่าร้อยละ 30 และไม่แนะนำให้ใช้เพื่อติดตามการรักษาหลังให้ยากำจัดเชื้อไปแล้ว เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อนั้นจะคงอยู่ในร่างกายต่อไปอีกเป็นเวลานาน ดังนั้น การตรวจนี้จึงมีความจำเพาะในการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้ออยู่ ณ เวลานั้นเพียง 80% เท่านั้น ส่วนการตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ เช่น IgA หรือ IgM ในเลือดที่จำเพาะต่อเชื้อก็ไม่แนะนำให้ทำการตรวจด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีค่า predictive value ที่ไม่เอื้อประโยชน์ในการวินิจฉัย

การรักษา

ประโยชน์ในแง่ของการลดโอกาสของการเกิดโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ

            การเกิดแผลในทางเดินอาหาร ข้อมูลจากการศึกษาแบบ observational studies, randomized trials รวมไปถึงจาก Cochrane review บ่งชี้ว่าการรักษาโดยมุ่งเป้าหมายไปที่การกำจัดเชื้อ H. pylori ในผู้ป่วยที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อนั้นสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดแผลที่บริเวณลำไส้ส่วน duodenum และกระเพาะอาหารได้อย่างชัดเจน โดยมีค่า number needed to treat (จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องรักษาเพื่อให้สามารถป้องกันการเกิดแผลซ้ำได้ 1 ราย) เท่ากับ 2-3 รายเท่านั้น และในการศึกษาแบบ meta-analysis อีกการศึกษาหนึ่งก็พบว่าการกำจัดเชื้อ H. pylori สามารถช่วยลดโอกาสที่ต้องรักษาอาการ dyspepsia ได้ และมี number needed to treat เท่ากับ 13

            การเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หลังจากที่ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อ H. pylori กับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารปรากฏขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้มีความพยายามที่ตรวจหาและให้การรักษาการติดเชื้อนี้ในปี ค.ศ. 2013 นับจากนั้นเป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารก็ลดลงจาก 50,000 รายต่อปี เหลือ 45,000 รายต่อปี การศึกษาแบบ observational study ในฮ่องกงก็พบความสัมพันธ์ระหว่างการลดลงของอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารกับการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ H. pylori อย่างชัดเจนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled trial ทำในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งพบว่าในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้น การรักษาเพื่อกำจัดเชื้อนี้สามารถช่วยลดอัตราการเกิด metachronous gastric cancer ได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับยาหลอก

            โรค MALToma สำหรับกรณีของโรค MALToma ในระยะต้น (type I หรือ II) การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ H. pylori สามารถรักษาภาวะนี้อย่างได้ผลดี ส่วนในรายที่มีระยะโรคดำเนินไปมาก การรักษาจำเป็นต้องประกอบด้วยการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน

            แผลในทางเดินอาหารในผู้ป่วยที่ใช้ยา NSAIDs หลักฐานจากการศึกษาแบบ randomized trials บ่งชี้ว่าในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาในกลุ่ม NSAIDs ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน การตรวจหาและให้การรักษาเพื่อกำจัดการติดเชื้อ H. pylori สามารถลดโอกาสของการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารลงได้อย่างชัดเจน สำหรับในกรณีของผู้ป่วยที่ใช้ยา low-dose aspirin นั้น มีข้อมูลพบว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานและมีการติดเชื้อ H. pylori จะมีโอกาสเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารได้มากกว่าอย่างชัดเจน ดังนั้น โดยมากจึงแนะนำให้ทำการรักษากำจัดเชื้อ H. pylori ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย

            โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและ immune thrombocytopenia ก่อนหน้านี้มีข้อมูลการศึกษาแบบ randomized trials พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาการติดเชื้อ H. pylori มีระดับ hemoglobin ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาแบบ retrospective study กลับไม่พบว่าการติดเชื้อชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะโลหิตจาง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ไม่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นมาก่อน สำหรับในกรณีของโรค immune thrombocytopenia นั้นมีข้อมูลที่มาจากการศึกษาแบบ observational study พบว่าการกำจัดเชื้อสามารถช่วยทำให้มีจำนวนเกล็ดเลือดเช่นกัน

สูตรยาที่ใช้

            ในปัจจุบัน ACG แนะนำให้ใช้ยาในตำรับยาสูตรใดสูตรหนึ่งก็ได้จากทั้งหมด 7 สูตรดังตารางที่ 2 เพื่อใช้เป็นยาขนานแรกในการกำจัดเชื้อ H. pylori แต่อาจพิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้ยาในรายที่มีประวััติเคยได้รับการรักษาด้วยยาในกลุ่ม macrolides เช่น clarithromycin, azithromycin และ erythromycin หรือในรายที่มีประวัติอาการแพ้ยากลุ่ม penicillins เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ให้ประวัติว่าเคยมีอาการแพ้ยา penicillins มักจะไม่ได้มีอาการแพ้จริง ดังนั้น หากหลักฐานอาการแพ้ยาไม่ชัดเจนควรพิจารณาทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการทำ skin testing และสามารถให้ยาได้หากพบว่าผลการตรวจให้ผลลบ ประเด็นอื่น ๆ ที่อาจนำมาเข้าร่วมพิจารณาเลือกใช้ยา ได้แก่ อาการข้างเคียงจากยา ราคา สิทธิการรักษา และความยากง่ายในการจัดหายา เป็นต้น

ตารางที่ 2 สูตรยาที่ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อ H. pylori

            การรักษาด้วยยาในสูตรแรกคือ clarithromycin ร่วมกับ amoxicillin และ PPI เป็นทางเลือกแรกที่ ACG แนะนำให้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน ทั้งนี้เนื่องจากในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับยา โอกาสที่จะมีเชื้อดื้อต่อยา clarithromycin นั้นค่อนข้างน้อย (น้อยกว่า 15%) หากในบางพื้นที่ที่อัตราการดื้อต่อยา clarithromycin ของเชื้อค่อนข้างสูง ควรเลือกการรักษาด้วยสูตร bismuth-based quadruple therapy ที่ประกอบด้วยยา bismuth, tetracycline, metronidazole และ PPI ซึ่งเป็นสูตรมาตรฐานที่ใช้มาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980s โดยการรักษาด้วยสูตรนี้ควรให้ยาเป็นเวลา 10-14 วัน โดยผลการศึกษาแบบ randomized controlled trial เปรียบเทียบระหว่างการรักษาด้วยสูตร clarithromycin-based กับ bismuth-based therapy พบว่ามีประสิทธิภาพดีไม่แตกต่างกัน โดยมีอัตราสำเร็จในการกำจัดเชื้อจากแต่ละสูตรเท่ากับ 87.7% และ 83.2% ตามลำดับ โดยมีอัตราการหยุดการรักษากลางคันหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากแต่ละสูตรไม่แตกต่างกันด้วย

            ในกรณีที่ผลการรักษาหลังจากการใช้ยาในสูตรทั้งสองข้างต้นล้มเหลว ควรทำการตรวจเพาะเชื้อเพื่อดูลักษณะความไวของเชื้อต่อยาก่อนพิจารณาปรับยา (แต่การเพาะเชื้ออาจไม่สามารถทำได้ทั่วไป) หรือปรับเปลี่ยนเป็นยาในสูตรอื่น ๆ แทน

แนวทางในการตรวจหาภาวะดื้อต่อยาของเชื้อ

            แนวทางเวชปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะไม่แนะนำให้ใช้ยาในสูตรที่มี clarithromycin หากมีอุบัติการณ์ของเชื้อดื้อยา clarithromycin เกินกว่า 25% แต่ในทางปฏิบัติการประเมินอุบัติการณ์ของการเกิดเชื้อดื้อยาดังกล่าวมักทำได้ยากเนื่องจากการเพาะเชื้อและการตรวจหาความไวของเชื้อ H. pylori ต่อยาปฏิชีวนะนั้นไม่สามารถทำได้ทั่วไป ข้อมูลเกี่ยวกับการดื้อยาส่วนใหญ่จึงอ้างอิงจากข้อมูลการศึกษาวิจัยแบบ meta-analysis ซึ่งพบว่าในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการดื้อต่อยา clarithromycin โดยรวมประมาณร้อยละ 10 โดยอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่และประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน โดยรวมแล้วอุบัติการณ์ของภาวะดื้อยามักจะพบในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และพบได้บ่อยขึ้นในผู้ที่มีประวัติการใช้ยา clarithromycin มาก่อน

แนวทางเวชปฏิบัติในปัจจุบัน

คำแนะนำต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นสอดคล้องกับแนวทางเวชปฏิบัติที่แนะนำและเผยแพร่โดย ACG ในปี ค.ศ. 2017 ส่วนแนวทางเวชปฏิบัติอื่น ๆ ที่มีอยู่นั้นโดยรวมแล้วก็มีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างเนื่องจากความแตกต่างในแง่ของชนิดยาที่มีใช้ อุบัติการณ์ของการเกิดเชื้อดื้อยา และอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น ในบางประเทศที่มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งในผู้ที่มีอายุน้อยค่อนข้างสูง อาจมีคำแนะนำให้เริ่มรักษาเร็วกว่า เป็นต้น

สรุป

            การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยและมักจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่จะสัมพันธ์กับการเกิดโรคอื่น ๆ ได้แก่ dyspepsia โรคแผลในทางเดินอาหาร และโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จึงทำให้มีความจำเป็นต้องทำการตรวจค้นและให้การรักษา โดยในแง่ของการตรวจการติดเชื้อนั้นสามารถทำได้ทั้งในแบบที่ไม่รุกล้ำ เช่น การตรวจ urea breath test หรือการตรวจ stool antigen test เป็นต้น ส่วนการตรวจหาการติดเชื้อที่ต้องอาศัยการเก็บชิ้นเนื้อส่งตรวจจะแนะนำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่าง ๆ ในส่วนของการรักษานั้นสามารถเลือกใช้ยาในสูตรต่าง ๆ ได้หลายสูตรขึ้นกับปัจจัยในแง่ของการดื้อต่อยา ประวัติการแพ้ยา หรือชนิดของยาที่มีใช้ในสถานพยาบาลนั้น ๆ

References

  1. Hooi JKY, Lai WY, Ng WK, et al. Global prevalence of Helicobacter pylori infection: systematic review and meta-analysis. Gastroenterology 2017;153:420-9.
  2. Moayyedi P. The health economics of Helicobacter pylori infection. Best Pract Res Clin Gastroenterol 2007;21:347-61.
  3. Parsonnet J, Friedman GD, Vandersteen DP, et al. Helicobacter pylori infection and the risk of gastric carcinoma. N Engl J Med 1991;325:1127-31.
  4. Parsonnet J, Hansen S, Rodriguez L, et al. Helicobacter pylori infection and gastric lymphoma. N Engl J Med 1994;330:1267-71.
  5. DuBois S, Kearney DJ. Iron-deficiency anemia and Helicobacter pylori infection: a review of the evidence. Am J Gastroenterol 2005;100:453-9.
  6. Rostami N, Keshtkar-Jahromi M, Rahnavardi M, Keshtkar-Jahromi M, Esfahani FS. Effect of eradication of Helicobacter pylori on platelet recovery in patients with chronic idiopathic thrombocytopenic purpura: a controlled trial. Am J Hematol 2008;83:376-81.
  7. Chey WD, Leontiadis GI, Howden CW, Moss SF. ACG clinical guideline: treatment of Helicobacter pylori infection. Am J Gastroenterol 2017;112:212-39.
  8. Malfertheiner P, Megraud F, O’Morain CA, et al. Management of Helicobacter pylori infection — the Maastricht V/Florence Consensus Report. Gut 2017;66:6-30.
  9. El-Serag HB, Kao JY, Kanwal F, et al. Houston Consensus Conference on testing for Helicobacter pylori infection in the United States. Clin Gastroenterol Hepatol 2018;16(7):992-1002.e6.
  10. Nishikawa K, Sugiyama T, Kato M, et al. A prospective evaluation of new rapid urease tests before and after eradication treatment of Helicobacter pylori, in comparison with histology, culture and 13C urea breath test. Gastrointest Endosc 2000;51:164-8.
  11. Vaira D, Vakil N, Menegatti M, et al. The stool antigen test for detection of Helicobacter pylori after eradication therapy. Ann Intern Med 2002;136:280-7.
  12. Choi IJ, Kook M-C, Kim Y-I, et al. Helicobacter pylori therapy for the prevention of metachronous gastric cancer. N Engl J Med 2018;378:1085-95.
  13. Fallone CA, Chiba N, van Zanten SV, et al. The Toronto Consensus for the treatment of Helicobacter pylori infection in adults. Gastroenterology 2016;151(1):51-69.e14.
  14. Savoldi A, Carrara E, Graham DY, Conti M, Tacconelli E. Prevalence of antibiotic resistance in Helicobacter pylori: a systematic review and meta-analysis in World Health Organization regions. Gastroenterology 2018;155(5):1372-82.e17.