ความสัมพันธ์ของการสัมผัสมลพิษทางอากาศกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคจิตในวัยรุ่น
จากการศึกษาของ Newbury JB และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร JAMA Psychiatry เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบความสัมพันธ์ของการสัมผัสมลพิษทางอากาศกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคจิตในวัยรุ่น (อายุ 12-18 ปี) ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง จากจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 2,063 ราย (เป็นเพศหญิงร้อยละ 52.5) พบว่าทุก ๆ 623 ราย จะพบวัยรุ่นที่มีประสบการณ์โรคจิตอย่างน้อย 1 ราย โดยพบความสัมพันธ์ของการเกิดโรคมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ที่สัมผัสกับไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และฝุ่น PM2.5 และไม่พบว่าสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ประวัติโรคจิตเวชในครอบครัว การมีอาการโรคจิตเกิดในวัยเด็ก การสูบบุหรี่ การติดสารเสพติด สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ การเกิดอาชญากรรมในพื้นที่ และสภาพสังคมที่อาศัยอยู่ เป็นปัจจัยกวนที่ส่งผลต่อการเกิดโรคจิตในการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลของประเทศไทยจากกรมควบคุมมลพิษจะพบว่า ในปี พ.ศ. 2561 ปริมาณ NO2 ใน 1 ชั่วโมง (ค่าเฉลี่ยรายปี) ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ ยกเว้นริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน และริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยค่าเฉลี่ยรายปีทั้งประเทศเท่ากับ 11.9 ppb (ค่ามาตรฐาน 30.0 ppb) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก พ.ศ. 2559 ที่มีค่าเท่ากับ 11.0 ppb โดยค่าสูงสุดตรวจวัดได้บริเวณริมถนนดินแดง กรุงเทพมหานคร เท่ากับ 36.0 ppb เมื่อพิจารณาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553-2560) พบว่าปริมาณ NO2 ในพื้นที่ริมถนนในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มลดลง ส่วนพื้นที่ทั่วไปของกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มคงที่ ในขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ดังนั้น ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวหรือประเมินแล้วว่าตนเองอาจมีความเสี่ยงควรมีการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม เช่น สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 เมื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่ เป็นต้น
ที่มา