2019 ACC/AHA Guideline on the Primary Prevention of Cardiovascular Disease

2019 ACC/AHA Guideline on the Primary Prevention of Cardiovascular Disease

Circulation. 2019. DOI: 10.1161/CIR.0000000000000678.

            วิธีป้องกัน atherosclerotic vascular disease (ASCVD) ที่สำคัญที่สุดคือ การปฏิบัติตนให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไปจนตลอดชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในการปฏิบัติตัว ตลอดจนความร่วมมือในการใช้ยา ทั้งจากตัวผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งต้องทำงานสอดประสานกัน ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-75 ปีทุกรายควรได้รับการประเมินความเสี่ยง 10-year ASCVD risk และเมื่อทราบความเสี่ยงแล้วแพทย์และผู้ป่วยควรปรึกษาหารือกันเรื่องทางเลือกในการรักษา เช่น การปรับพฤติกรรมหรือการใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด นอกจากนี้อาจพิจารณาทางเลือกในการประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมตามบริบทของผู้ป่วยแต่ละรายและความพร้อมของสถานพยาบาล เช่น การประเมิน coronary calcium score เป็นต้น ซึ่งในบริบทของประเทศไทยอาจประยุกต์โดยประเมินความเสี่ยงโดยใช้ THAI CV risk score แทน 10-year ASCVD risk สำหรับคำแนะนำอื่น ๆ เพื่อป้องกัน ASCVD คือ ผู้ใหญ่ทั่วไปควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเน้นรับประทานอาหารกลุ่ม anti-inflammatory foods ได้แก่ ผักใบเขียว ธัญพืชที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใด ๆ และปลา โดยลดหรืองดอาหารที่มีไขมันทรานส์ เนื้อแดง เครื่องดื่มแปรรูป เช่น เครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน และธัญพืชที่ผ่านกระบวนการกลั่น ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วนควรได้รับคำปรึกษาเพื่อลดน้ำหนัก ผู้ที่สูบบุหรี่ควรได้รับคำแนะนำเพื่อเลิกบุหรี่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมและการใช้ยา โดยยาตัวแรกที่ควรเลือกใช้คือ metformin (หากไม่มีข้อห้ามใช้ยา เช่น renal impairment หรือ severe heart failure) หรือพิจารณายาทางเลือกอื่น ๆ เมื่อมีข้อบ่งใช้ ได้แก่ ยากลุ่ม sodium-glucose cotransporter 2 (SGLT2) inhibitors เช่น dapagliflozin, empagliflozin และ canagliflozin เป็นต้น หรือยากลุ่ม glucagon-like peptide 1 receptor agonists เช่น liraglutide, semaglutide, lixinatide และ exenatide เป็นต้น ไม่ควรใช้ยา aspirin ในการเป็น primary prevention ในผู้ป่วยทุกราย โดยอาจพิจารณาให้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงจากการประเมินตามเกณฑ์ ASCVD (ในบริบทของประเทศไทยอาจประยุกต์โดยใช้ THAI CV risk score แทน) และไม่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออก สำหรับยากลุ่ม statin เป็นการรักษาหลักเพื่อ primary prevention ในผู้ที่มีอายุ 40-75 ปี และมีระดับ LDL-C ≥ 190 mg/dL สำหรับผู้ป่วยรายอื่น ๆ จะพิจารณาให้ยากลุ่ม statin ก็ต่อเมื่อแพทย์ประเมิน ASCVD risk แล้วเห็นว่าเหมาะสมที่จะต้องให้ยาเพื่อเป็น primary prevention ในบริบทของประเทศไทยให้ประเมินข้อบ่งใช้ยากลุ่ม statin ตามความเสี่ยงโดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1. มีโรคความดันโลหิตสูง ร่วมกับมีความเสี่ยงต่อไปนี้ ≥ 3 ข้อขึ้นไป ได้แก่ เป็นเพศชายอายุมากกว่า 55 ปี สูบบุหรี่ มีผลการตรวจร่างกายพบว่าหัวใจห้องล่างซ้ายโต มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว มีผลการตรวจแอลบูมินในปัสสาวะ เป็นโรคเบาหวาน มีโรคหลอดเลือดแดงบริเวณอื่น หรือมีสัดส่วนของ total cholesterol/HDL-C ตั้งแต่ 6 ขึ้นไป หรือ 2. ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่มีผลประเมินความเสี่ยงโดยใช้ THAI CV risk score แบบประเมินโดยใช้ผลเลือด ≥ 10% ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทุกรายต้องได้รับการแนะนำเรื่องการปรับพฤติกรรมก่อนใช้ยาลดความดันโลหิต โดยมีเป้าหมายควบคุมความดันโลหิตให้ได้ < 130/80 mmHg (ในบริบทของประเทศไทยให้ควบคุมความดันโลหิตให้ได้ < 140/90 mmHg ก่อน และหากผู้ป่วยสามารถทนต่อยาได้อาจพิจารณากำหนดเป้าหมายควบคุมความดันโลหิตให้ได้ < 130/80 mmHg ได้ในลำดับต่อไป)