ทางเลือกใหม่ในการรักษาภาวะตาแดงจากการติดเชื้อไวรัส
“ไวรัส” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะตาแดง โดยเชื้อที่พบรายงานว่าเป็นสาเหตุมากที่สุด ได้แก่ Adenovirus รองลงมาคือ Enterovirus และ Coxsackievirus เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสดงคือ มีขี้ตาลักษณะใส และอาจพบว่ามีอาการปวดตาหรือระคายเคืองตาเล็กน้อยร่วมด้วย เมื่อสืบค้นข้อมูลแนวทางการรักษาภาวะตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบว่ามีการระบุชนิดหรือแนวทางการรักษาภาวะนี้ที่เฉพาะเจาะจง เพียงระบุให้รักษาตามอาการเท่านั้น เช่น การติดตามอาการ การประคบเย็น การใช้น้ำตาเทียม โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสแต่อย่างใด แต่จากงานวิจัยของ Pepose และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Ophthalmology ในปี พ.ศ. 2562 ระบุว่าการใช้ยาสูตรผสมระหว่าง povidone-iodine (PVP-I) 0.6% และ dexamethasone (DEX) 0.1% ophthalmic suspension (PVP-I/DEX) วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันนาน 14 วัน อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะนี้ได้ เนื่องจากพบการศึกษาในอดีตที่แสดงให้เห็นว่า PVP-I สามารถออกฤทธิ์เป็น virucidal ได้ และ DEX สามารถยับยั้งหรือบรรเทาอาการอักเสบซึ่งเป็นอาการแสดงที่พบบ่อยในภาวะตาแดงได้ และมีข้อมูลค่อนข้างมากว่าสามารถใช้ยาทั้ง 2 ชนิดได้อย่างปลอดภัยกับดวงตาของมนุษย์ การศึกษานี้มีรูปแบบงานวิจัยเป็น randomized controlled trial แบ่งออกเป็นช่วงการทดลองแบบปกปิด ณ วันที่ 1-5 และช่วงการทดลองแบบเปิด ณ วันที่ 6-14 โดยประเมินผลลัพธ์ด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยคือ ขี้ตาลักษณะใส ภาวะตาแดง และการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (TEAEs) ตามลำดับ ผู้วิจัยติดตามผลลัพธ์ในวันที่ 1, 3, 6 และ 14 ของการรักษา เมื่อประเมินผลลัพธ์ในวันที่ 6 พบว่า PVP-I/DEX มีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้สารหล่อลื่นทางตา (ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าคือสารชนิดใด) โดยผู้ที่ได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ PVP-I/DEX คิดเป็น 66.1% [39/59] ในขณะที่ผู้ที่ได้รับประสิทธิภาพจากการใช้สารหล่อลื่นทางตาคิดเป็น 58.9% [33/56] แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาด้านประสิทธิภาพที่ได้ไม่แตกต่างกันทางสถิติ (p-value = 0.4268) สำหรับด้านความปลอดภัย ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ใช้ PVP-I/DEX ไม่เกิด TEAEs และไม่พบว่ามีผู้ป่วยรายใดที่ต้องหยุดใช้ PVP-I/DEX อันมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการเกิด TEAEs การศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้ทราบว่า ยาสูตรผสมดังกล่าวยังคงมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก ถึงแม้จะพบว่ามีความปลอดภัยในการใช้ก็ตาม และยังคงต้องมีการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ ให้มากขึ้น ดังนั้น การรักษาภาวะตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสยังคงต้องเป็นการรักษาตามอาการต่อไป โดยจะต้องเลือกชนิดการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแบบเฉพาะรายตามความรุนแรงที่พบ (พิจารณาจากปริมาณขี้ตา อาการตาแดง และอาการอักเสบ ระคายเคือง หรืออาการปวดตาที่เกิดขึ้น) เช่น หากอาการรุนแรงน้อยอาจพิจารณาติดตามอาการหรือใช้การประคบเย็น หากมีอาการรุนแรงปานกลางถึงมากอาจพิจารณาใช้น้ำตาเทียม โดยควรแนะนำผู้ป่วยให้ถอดเลนส์สัมผัสออกก่อนทุกครั้งก่อนใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียคือ benzalkonium chloride และสามารถสวมเลนส์สัมผัสกลับเข้าไปใหม่ได้หลังหยอดน้ำตาเทียมแล้วนาน 10-15 นาที และป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ตาอีกข้างหนึ่งในกรณีที่มีอาการตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสเริ่มต้นที่ตาข้างเดียว โดยห้ามใช้ผ้าปิดตาแต่สามารถใช้ฝาครอบตาได้
ที่มา: Pepose JS, Narvekar A, Liu W, Haque R. A randomized controlled trial of povidone-iodine/dexamethasone ophthalmic suspension for acute viral conjunctivitis. Clin Ophthalmol. 2019;13:535-44. doi: 10.2147/OPTH.S191275.