การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
เครื่องดื่มชูกำลังได้รับความนิยมในการบริโภคมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันพบว่ามีการขยายฐานผู้บริโภคเข้าสู่กลุ่มวัยรุ่นและผู้หญิงมากขึ้น แต่เป็นที่น่าสนใจว่ายังไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก ข้อมูลจากการสำรวจตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเครื่องดื่มชูกำลังที่มีวางจำหน่ายมักมีส่วนประกอบหลักคือ caffeine และส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น guarana, sugars, taurine, ginseng, glucuronolactone, yohimbe, carnitine และ bitter orange เป็นต้น ข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิกในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้ เช่น การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การรบกวนการนอน การรบกวนระบบทางเดินอาหาร การเกิดปัญหาการขาดน้ำ เป็นต้น การศึกษาทางคลินิกซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร The American Heart Association ในปี ค.ศ. 2019 แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งมีส่วนประกอบของ caffeine 304-320 mg, taurine, glucuronolactone, carnitine, guarana และ panax ginseng ในปริมาตรประมาณ 1 ลิตร ภายใน 1 ชั่วโมง สามารถเกิดภาวะ QTc prolongation ได้ และนำไปสู่การเพิ่มระดับความดันโลหิตในอีก 4 ชั่วโมงถัดมา ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่ได้ศึกษาผลกระทบของการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังต่อสุขภาพในระยะยาว และอาสาสมัครที่เข้าร่วมการศึกษานี้เป็นกลุ่มผู้มีสุขภาพดี ในทางปฏิบัติบุคลากรทางการแพทย์สามารถมีบทบาทในการให้ความรู้และสื่อสารกับผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไปให้ระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องรับประทานยาที่ส่งผลเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ QTc prolongation เช่น ยาต้านภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation ยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม ยาต้านซึมเศร้า และยารักษาโรคจิตเภท เป็นต้น รวมถึงต้องระวังการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงด้วย
ที่มา: Shah SA, Szeto AH, Farewell R, et al. Impact of high volume energy drink consumption on electrocardiographic and blood pressure parameters: a randomized trial. J Am Heart Assoc. 2019;8(11):e011318. doi: 10.1161/JAHA.118.011318.