ควร หรือไม่ควรรักษา white coated hypertension?
White coated hypertension คือ ภาวะที่พบว่ามีระดับความดันโลหิตสูงเมื่อเข้ารับการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ แต่กลับพบว่าระดับความดันโลหิตไม่สูงเมื่อวัดที่บ้านหรือเมื่อวัดด้วยตนเอง ณ ที่อื่น ๆ นอกเหนือไปจากสถานพยาบาล ภาวะดังกล่าวสร้างความสับสนและนำไปสู่คำถามสำหรับแพทย์ว่า “ควรให้การรักษาภาวะนี้หรือไม่ อย่างไร?” ข้อมูลจากการศึกษาทางคลินิกชนิดอภิวิเคราะห์ ซึ่งรวบรวมการศึกษาเชิงสังเกตจำนวน 27 การศึกษา และมีอาสาสมัครรวม 64,000 คน ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ The Annals of Internal Medicine แสดงให้เห็นว่าหากไม่รักษาภาวะนี้อย่างเหมาะสมอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและการเสียชีวิตได้ร้อยละ 36 และ 33 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีระดับความดันโลหิตเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวยังคงน้อยกว่าผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าปกติ และจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่พบว่าภาวะ white coated hypertension มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ในทางปฏิบัติบุคลากรทางการแพทย์สามารถมีบทบาทในการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดให้แก่ประชาชน (ควรประเมินโดยใช้ Thai CV risk สำหรับผู้ป่วยชาวไทย) และค้นหาผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ ซึ่งการตัดสินใจให้การรักษาอาจพิจารณาเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะ white coated hypertension และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงเท่านั้น
ที่มา: Cohen JB, Lotito MJ, Trivedi UK, Denker MG, Cohen DL, Townsend RR. Cardiovascular events and mortality in white coat hypertension: A systematic review and meta-analysis. Ann Intern Med. 2019 Jun 11. doi: 10.7326/M19-0223.