การบาดเจ็บเฉียบพลันต่อไตที่สัมพันธ์กับสารทึบรังสี (Contrast-associated acute kidney injury)
อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
การบาดเจ็บเฉียบพลันต่อไตที่สัมพันธ์กับสารทึบรังสี (contrast-associated acute kidney injury) เป็นภาวะที่มีการทำงานของไตลดลงที่เกิดขึ้นภายในเวลาไม่นานหลังจากที่ได้รับการฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือด การรายงานกรณีผู้ป่วยที่เกิดภาวะนี้รายแรก ๆ เริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 1950s โดยเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจทางรังสีวิทยาด้วยวิธี intravenous pyelography ซึ่งมีการฉีดสารทึบรังสี หลังจากนั้นก็มีการรายงานผู้ป่วยในลักษณะคล้ายกันออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งมีการปรับเปลี่ยนชนิดของสารทึบรังสี การค้นหาผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและการจัดการในช่วงที่จะมีการใช้สารทึบรังสีที่ดีขึ้นทำให้อุบัติการณ์ของการเกิดภาวะนี้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาวิจัยในระยะหลังซึ่งบ่งชี้ว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ทำอยู่เพื่อป้องกันการเกิดภาวะนี้อาจมากเกินความจำเป็น จนทำให้ในบางครั้งมีผู้ป่วยบางรายเสียโอกาสที่จะได้รับการตรวจที่เหมาะสมไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น การมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของภาวะนี้และจัดการที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงจึงมีความสำคัญมาก
คำจำกัดความและพยาธิสรีรวิทยาของโรค
ในอดีตภาวะนี้เรียกว่า contrast-induced nephropathy โดยให้คำจำกัดความคือ การเพิ่มขึ้นของระดับ creatinine ในเลือดอย่างน้อย 0.5 mg/dL หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 25% ภายใน 2-5 วันหลังจากการสัมผัสกับสารทึบรังสี ต่อมากลุ่ม KDIGO (The Kidney Disease Improving Global Outcomes) ได้เสนอชื่อเรียกและคำจำกัดความใหม่เป็น contrast-induced acute kidney injury เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของระดับ creatinine ในเลือดอย่างน้อย 1.5 เท่าของเดิมภายใน 7 วันหลัง หรือเพิ่มขึ้น 0.3 mg/dL ภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีปริมาณปัสสาวะออกลดลงเหลือน้อยกว่า 0.5 mL/kg of body weight/hr ติดต่อกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมงจากที่สัมผัสกับสารทึบรังสี
ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับกลไกของการเกิดและพยาธิสรีรวิทยาของการบาดเจ็บของไตที่สัมพันธ์กับสารทึบรังสีนั้นยังไม่เป็นที่ทราบและเข้าใจอย่างถ่องแท้มากนัก แต่ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ทำให้ทราบว่ากลไกของการเกิดโรคที่สำคัญมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่
1. ผลกระทบโดยตรงจากสารทึบรังสีทำให้เกิดการบาดเจ็บและการตายของเซลล์เยื่อบุผิวของท่อไต (tubular epithelial cells)
2. ผลทางอ้อม ซึ่งเป็นจากการที่สารทึบรังสีกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารกลุ่ม vasoactive substances ต่าง ๆ เช่น endothelin, nitric oxide และ prostaglandins ต่าง ๆ ทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังเนื้อเยื่อไตลดลงจากเดิมจนเกิดการขาดเลือดได้
3. ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการไหลเวียนเลือด (hemodynamics) เนื่องจากการมีสารทึบรังสีในกระแสเลือดมีผลทำให้ความเข้มข้น (osmolality) และความหนืด (viscosity) ของเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการ thrombosis ในหลอดเลือดได้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนเลือดไปสู่เนื้อเยื่อไตตามมา
เนื่องจากกลไกของการเกิดโรคนั้นมีหลายกลไก และบางอย่างไม่ได้เกิดจากสารทึบรังสีโดยตรง ในปัจจุบันจึงนิยมใช้คำว่า contrast-associated acute kidney injury แทน
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติที่ไตจากสารทึบรังสีนั้นมีอยู่หลายประการ โดยแบ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับผู้ป่วยและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ โดยส่วนของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรังอยู่เดิมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด โดยมีข้อมูลจากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนกว่า 980,000 รายที่เข้ารับการตรวจด้วย percutaneous coronary intervention (PCI) สำหรับโรคเบาหวานนั้น แม้จะมีการกล่าวถึงไว้ก่อนหน้านี้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ แต่ข้อมูลจากการศึกษาในระยะหลังบ่งชี้ว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของไตจากสารทึบรังสีมากขึ้นไปกว่าเดิม แต่อาจเพิ่มความรุนแรงของความผิดปกติขึ้นได้หากผู้ป่วยมีความผิดปกติของไตอยู่ก่อน ในส่วนของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจนั้น การตรวจด้วยวิธี arteriography ซึ่งใช้สารทึบรังสีที่มีความเข้มข้นมากกว่าการตรวจ CT scan ทั่วไป รวมถึงการใช้สารทึบรังสีที่มีความเข้มข้นสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้มากกว่าการใช้สารที่มีความเข้มข้นต่ำหรือเท่ากับในเลือด นอกจากนี้การใช้สารทึบรังสีในปริมาณมาก (> 350 mL หรือ > 4 mL/kg) ในแต่ละครั้งของการตรวจ หรือมีการตรวจซ้ำภายใน 72 ชั่วโมง ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
ในปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะพัฒนาแบบประเมินที่ใช้ในการคาดคะเนโอกาสที่เกิดความผิดปกติของไตจากการใช้สารทึบรังสีเอาไว้อยู่หลายแบบ โดยนำเอาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีข้อมูลพบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคที่มากขึ้นเข้ามาใช้ในการประเมิน แต่เนื่องจากแบบประเมินเหล่านี้เกือบทั้งหมดทำขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจ PCI ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดในการขยายผลไปยังผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ ด้วย
ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับ contrast-associated AKI ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการสัมผัสกับสารทึบรังสีนั้นสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดไตเสื่อมอย่างเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยที่เกิด AKI แบบไม่รุนแรงมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีระดับการทำงานของไตลดลงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 90 วัน มากขึ้นกว่าผู้ที่ไม่เกิด AKI คิดเป็น odds ratio 4.7 (95% CI 3.9-5.7) ในขณะที่ผู้ที่เกิด AKI ระดับรุนแรงมากมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นคิดเป็น odds ratio ถึง 17.3 (95% CI 12.0-24.9) และพบด้วยว่าการมีระดับการทำงานของไตที่ลดลงนั้นสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในทางปฏิบัติมักจะมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้สารทึบรังสี ทำหัตถการหรือการตรวจต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้สารทึบรังสี โดยเฉพาะในกรณีของ coronary angiography และ revascularization ในผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังเริ่มมีข้อมูลจากการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการใช้สารทึบรังสีนั้นอาจไม่ได้เป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างเป็นเหตุเป็นผลชัดเจนดังที่เข้าใจกัน ตัวอย่างเช่น
1. การศึกษาแบบ meta-analysis เปรียบเทียบการใช้หรือไม่ใช้สารทึบรังสีแบบ iodinated contrast ในการทำหัตถการต่าง ๆ โดย McDonald และคณะ ที่มีอาสาสมัครในการศึกษาจำนวน 25,950 คน พบว่ามีอัตราการเกิด AKI ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (6.5% และ 6.4% ตามลำดับ คิดเป็น risk ratio 0.79, 95% CI 0.62-1.02, p = 0.07) รวมไปถึงมีอัตราการฟอกเลือดแทนไตและการเสียชีวิตที่ไม่แตกต่างกันในทั้ง 2 กลุ่มอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลการวิเคราะห์จากอีกหลายการศึกษาซึ่งพบว่าสารทึบรังสีแบบ iodinated contrast นั้นไม่ได้สัมพันธ์กับการเกิด AKI ที่เพิ่มมากขึ้น
2. ข้อมูลการศึกษาที่รายงานว่ามีอุบัติการณ์ของ AKI ที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของระดับ creatinine ในเลือดซึ่งมักจะไม่รุนแรง การเกิด AKI ที่รุนแรงนั้นในความเป็นจริงแล้วมีอุบัติการณ์ต่ำมาก ตัวอย่างเช่น การศึกษาเกี่ยวกับการเกิด contrast-associated AKI ในผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรังที่มาเข้ารับการตรวจ coronary angiography พบว่ามีผู้ป่วยอยู่เพียงร้อยละ 1.2 ของทั้งหมดที่มีระดับ creatinine เพิ่มขึ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของระดับเดิม และไม่มีผู้ป่วยรายใดเลยที่มีระดับ creatinine เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากระดับเดิมหรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดแทนไต ส่วนในอีกการศึกษาหนึ่งในแบบ meta-analysis ในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจ contrast-enhanced CT ก็พบว่ามีอัตราการเกิด contrast-associated AKI เพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น
3. ข้อมูลแบบ meta-analysis เกี่ยวกับการนำเอามาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการเกิด AKI จากสารทึบรังสีเข้ามาใช้ ซึ่งพบว่าวิธีการต่าง ๆ ที่แม้จะสามารถลดอุบัติการณ์ของ AKI ลงได้อย่างน้อย 50% นั้นไม่มีวิธีการใดเลยที่จะสามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตในระยะยาวลงได้ ตลอดจนในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพบวิธีการรักษาที่จะสามารถลดโอกาสในการเสียชีวิตของผู้ป่วยลง ทำให้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าการเกิดภาวะ contrast-associated AKI นั้นอาจเป็นเพียงสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมามากกว่าที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านั้นโดยตรง
การที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการใช้สารทึบรังสีนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นจริงหรือไม่ แต่มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้สารทึบรังสีในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ขาดโอกาสที่จะได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสมไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงยังสามารถพิจารณาทำการตรวจได้ในรายที่จำเป็น มีการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมและใช้มาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยป้องกันการเกิด AKI เข้ามาใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อลดโอกาสของการเกิดภาวะแทรกซ้อนให้น้อยที่สุด
มาตรการในการป้องกันภาวะ contrast-associated AKI
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันภาวะ contrast-associated AKI นั้นส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการป้องกัน 1 ใน 3 วิธี คือ การบำบัดด้วยการฟอกเลือดแทนไต (renal replacement therapy) การใช้ยา และการให้สารน้ำชนิด crystalloid ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับ 2 วิธีแรกนั้นไม่พบว่ามีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันการเกิดโรค ดังนั้น วิธีการหลักที่มีการนำมาใช้และศึกษาในระยะหลังนี้จะเหลืออยู่เพียงวิธีเดียวคือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ที่มีการนำมาใช้มีดังต่อไปนี้
ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
ชนิดของสารน้ำที่ใช้ ข้อมูลการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่มาจากการศึกษาแบบ observational study และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นการศึกษาแบบ randomized clinical trials ตัวอย่างเช่นการศึกษาของ Trivedi และคณะ ซึ่งทำการสุ่มให้อาสาสมัครได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำชนิด isotonic fluid เทียบกับให้ดื่มเองก่อนการตรวจ angiography ซึ่งการศึกษานี้ต้องยุติลงหลังจากมีอาสาสมัครเข้าร่วมในการศึกษาเพียง 53 รายเท่านั้น เนื่องจากพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำนั้นมีอุบัติการณ์ของ contrast-associated AKI น้อยกว่าอย่างชัดเจนและมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 3.7 และ 34.6, p = 0.005) ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งของ Mueller และคณะ ทำการเปรียบเทียบระหว่างการใช้สารน้ำชนิด isotonic กับชนิด half-isotonic fluid ในกลุ่มอาสาสมัครในระหว่างการทำหัตถการก็พบว่าในกลุ่มที่ใช้สารน้ำแบบ isotonic fluid ก็มีอุบัติการณ์ที่น้อยกว่าเช่นเดียวกัน (ร้อยละ 0.7 เทียบกับ 2.0, p = 0.04) ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวจึงทำให้ American College of Radiology ออกแนวทางปฏิบัติแนะนำให้ใช้ isotonic saline ทางหลอดเลือดดำโดยให้ในอัตรา 100 mL/hr เป็นเวลา 6-12 ชั่วโมงก่อน และ 4-12 ชั่วโมงหลังจากทำ angiography ส่วน European Society of Cardiology guidelines เกี่ยวกับการทำหัตถการ myocardial revascularization ก็แนะนำการให้ isotonic saline ทางหลอดเลือดดำในอัตรา 1-1.5 mL/kg/hr นาน 12 ชั่วโมงก่อน และ 24 ชั่วโมงหลังจากทำหัตถการ
ผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ชื่อ AMACING เป็นการศึกษาแบบ randomized trial ในอาสาสมัครจำนวน 660 คน ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างการให้หรือไม่ให้ isotonic saline ทางหลอดเลือดดำในระหว่างการตรวจหรือทำหัตถการที่มีการใช้สารทึบรังสี และพบว่าอุบัติการณ์ของการเกิด contrast-associated AKI ในทั้ง 2 กลุ่มนั้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำจะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการศึกษาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมในการศึกษาน้อยกว่าที่วางแผนไว้มาก (660 รายจาก 13,00 ราย) ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจึงมีความน่าเชื่อถือลดลง และยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ว่าการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำไม่เป็นประโยชน์
นอกเหนือไปจากการใช้สารน้ำชนิด isotonic sodium chloride แล้ว ยังมีการศึกษาอีกหลายการศึกษาเกี่ยวกับการใช้สารน้ำชนิด isotonic sodium bicarbonate แทน โดยมีแนวคิดว่าการทำให้ปัสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้นจะช่วยลดการเกิดสารชนิด oxygen free radicals ได้ ซึ่งผลที่ออกมายังไม่ปรากฏชัดว่ามีประโยชน์หรือไม่ ดังนั้น จึงยังไม่ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารน้ำชนิดนี้ในทางปฏิบัติ
ปริมาณสารน้ำที่ใช้ การศึกษาชื่อ POSEIDON เป็นการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการให้สารน้ำเพื่อป้องกันการเกิด contrast-associated AKI โดยเปรียบเทียบระหว่างการให้สารน้ำด้วยวิธีการมาตรฐานคือ 3 mL/kg/hr นาน 1 ชั่วโมงก่อนทำหัตถการ และ 1.5 mL/kg/hr อีก 4 ชั่วโมงหลังทำหัตถการ กับการให้สารน้ำในขนาดเดียวกันก่อนทำหัตถการ จากนั้นจึงใช้ค่าแรงดันในหัวใจห้องล่างซ้ายขณะคลายตัวมากสุด (left ventricular end-diastolic pressure) เป็นเกณฑ์ในการปรับอัตราเร็วของสารน้ำที่ให้ (5 mL/kg, 3 mg/kg และ 1.5 mL/kg เมื่อวัดแรงดันได้ < 13 mmHg, 13-18 mmHg และ > 18 mmHg ตามลำดับ) ซึ่งผลการศึกษาออกมาพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารน้ำโดยใช้แรงดันที่วัดได้เป็นเกณฑ์นั้นมีอัตราการเกิดโรคน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 6.7 เทียบกับ 16.3, p = 0.005) และภาวะแทรกซ้อนในแง่ของระบบการหายใจน้อยกว่า ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าในการพิจารณาให้สารน้ำ ควรมีการติดตามดูแรงดันและปรับอัตราการให้สารน้ำร่วมด้วย
การใช้ยา acetylcysteine
ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยและนำเอายา acetylcysteine มาใช้ในการป้องกันการเกิดภาวะ contrast-associated AKI อยู่หลายการศึกษา แต่ผลการศึกษาที่ออกมานั้นมีความแตกต่างกันมากและยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ข้อมูลการศึกษาล่าสุดชื่อ PRESERVE trial ซึ่งใช้ acetylcysteine ในขนาด 1,200 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน เปรียบเทียบกับยาหลอก ก็ไม่พบว่าให้ผลในการป้องกันการเกิดโรคที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการทำหัตถการชนิด angiography
การใช้ยากลุ่ม statins
การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยากลุ่ม statins ในการป้องกันการเกิด contrast-associated AKI มีอยู่หลายการศึกษา ตัวอย่างเช่น การศึกษา PROMISS ซึ่งใช้ยาในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เข้ารับการตรวจ coronary angiography พบว่าไม่มีผลช่วยลดการเกิดโรค ในขณะที่การศึกษาชื่อ PRATO-ACS ซึ่งใช้ยา rosuvastatin ในขนาด 20 mg ต่อวัน ในการป้องกันโรคพบว่าสามารถช่วยลดอัตราการเกิด AKI ภายใน 30 วันหลังจากการทำ PCI ได้อย่างชัดเจน การศึกษาอื่น ๆ อีกหลายการศึกษาก็พบว่าการใช้ยานี้ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน แต่โดยมากมีข้อจำกัดต่าง ๆ ด้านวิธีวิจัย ดังนั้น โดยสรุปแล้วยังคงต้องรอข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนกว่านี้ก่อนนำไปใช้ในผู้ป่วยในทางปฏิบัติ
มาตรการอื่น ๆ
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงควรเลือกใช้สารทึบรังสีชนิด low-osmolality หรือ iso-osmolality ในขนาดต่ำสุดที่ทำได้ หรืออย่างมากไม่เกิน 2 เท่าของระดับ glomerular filtration rate ของผู้ป่วยรายนั้น และในระยะที่ทำการตรวจควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อไต ส่วนยาอื่นที่อาจมีผลทางอ้อม เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาในกลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors หรือ angiotensin-receptor blockers นั้น ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าควรต้องหยุดใช้ก่อนการทำหัตถการ
สรุป
Contrast-associated AKI เป็นภาวะที่มีความสำคัญในแง่ของการเพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้ไตเสียการทำงานมากขึ้นอย่างถาวรได้ โดยผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรังอยู่เดิมเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าสารทึบรังสีมีผลทำให้โรคไตเป็นมากขึ้นจนต้องรับการฟอกเลือดแทนไต หรือการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังควรมีแนวทางในการป้องกันการเกิดโรค ได้แก่ การใช้สารน้ำทางหลอดเลือดดำในขนาดที่เหมาะสม โดยใช้ค่า left ventricular end-diastolic pressure เป็นเกณฑ์ และการใช้สารทึบรังสีชนิด low หรือ iso-osmolality ในปริมาณน้อยที่สุด ร่วมกับการหยุดยาที่อาจทำให้ความผิดปกติของไตเป็นมากขึ้น
References