ความชุกและปัจจัยเสี่ยงของการไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเป้าหมายได้ของผู้ป่วยชาวไทย
การไม่สามารถควบคุมโรคความดันโลหิตสูงได้จะนำไปสู่การเกิดโรคในระบบอวัยวะอื่น ๆ เรียกว่าการเกิด target organs damage โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองซึ่งสามารถนำไปสู่การตายและพิการได้ ดังนั้น การควบคุมความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดไปพร้อมกับการควบคุมค่าความดันโลหิตจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการจัดการโรคความดันโลหิตสูงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ Sakboonyarat และคณะ จึงดำเนินการศึกษาเพื่อระบุความชุกและปัจจัยเสี่ยงของการไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเป้าหมายได้ของผู้ป่วยชาวไทยขึ้น โดยการสำรวจข้อมูลจากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งประเทศในช่วงปี ค.ศ. 2014-2015 ใช้นิยามและแนวทางการจัดการโรคโดย JNC8 guideline ผลการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 65,667 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 62.2 มีอายุเฉลี่ยคือ 63.9 ± 11.1 ปี จากจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเป้าหมายได้จำนวน 16,122 ราย และพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเป้าหมายได้คือ เพศชาย อายุ พื้นที่อยู่อาศัย การเข้ารับการตรวจติดตามในโรงพยาบาลระดับที่แตกต่างกัน การมีโรคเบาหวานร่วมด้วย การมีดัชนีมวลกายสูงกว่า 25 kg/m2 การมีระดับ low density lipoprotein cholesterol สูงมากกว่า 100 mg/dL และจำนวนยาลดความดันโลหิตที่ใช้ (การใช้ยาลดความดันโลหิตมากกว่า 1 ชนิดร่วมกันจะสามารถช่วยให้สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดีขึ้น) ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้แนะนำผู้ป่วยที่ตนดูแลอยู่อย่างเหมาะสม เช่น การติดตามผู้ป่วยอย่างเหมาะสม การแนะนำให้ลดน้ำหนัก การแนะนำให้มีการควบคุมอาหารอย่างเหมาะสม การพิจารณาใช้ยาลดความดันโลหิตอย่างเหมาะสมทั้งในแง่ชนิดและจำนวน เป็นต้น
ที่มา: Sakboonyarat B, Rangsin R, Kantiwong A, Mungthin M. Prevalence and associated factors of uncontrolled hypertension among hypertensive patients: a nation-wide survey in Thailand. BMC Res Notes. 2019 Jul 4;12(1):380. doi: 10.1186/s13104-019-4417-7.