วิธีการตรวจช่องปากและลำคอแบบใหม่สำหรับแยกโรคคอหอยอักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน

วิธีการตรวจช่องปากและลำคอแบบใหม่สำหรับแยกโรคคอหอยอักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน

            “คอหอยอักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในชุมชนของประเทศไทย ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แต่ผู้ป่วยกลับมีความต้องการใช้ยาปฏิชีวนะแทนจึงทำให้พบปัญหา “การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม” ซึ่งนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโดยไม่จำเป็นและปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับโลก สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าวคือ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการแยกโรคที่เหมาะสมสำหรับบริบทของประเทศไทย จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าการแยกโรคคอหอยอักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันแบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่ 1. การใช้เครื่องมือตรวจและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งยังไม่สามารถกระทำได้โดยทั่วไปในบริบทของประเทศไทย และ 2. การประยุกต์ใช้เครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย (โดยพิจารณาจากมีไข้มากกว่า 38 °C ภาวะต่อมน้ำเหลืองหน้าคอโต อายุ ประวัติอาการไอ และการตรวจรอยโรคของต่อมทอนซิล) ซึ่งสามารถกระทำได้ง่ายกว่าในบริบทของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญของการประยุกต์ใช้เครื่องมือทำนายโอกาส ดังกล่าวในบริบทร้านยาของประเทศไทยคือ การมีข้อจำกัดเรื่องบทบาทการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมว่า “เภสัชกรไม่สามารถตรวจร่างกายแบบรุกล้ำเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยได้” ดังนั้น จึงไม่สามารถกดลิ้นผู้ป่วยเพื่อตรวจรอยโรคที่ต่อมทอนซิลได้ ในขณะที่อาจพบว่าผู้ป่วยบางรายไม่ให้ความร่วมมือหากเภสัชกรขอให้อ้าปากกว้าง ๆ และร้องเสียงอ้าดัง ๆ ในร้านยา Poowaruttanawiwit และคณะ จึงดำเนินการศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีอ้าปากแบบใหม่สำหรับแยกโรคคอหอยอักเสบและทอนซิลอักเสบเฉียบพลันที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในร้านยา โดยดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 30 ราย อายุรแพทย์ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคในช่องปากและเภสัชกรชุมชน เพื่อค้นหาวิธีอ้าปากที่เหมาะสม จากนั้นประเมินความสะดวกในการปฏิบัติ ถ่ายภาพภายในช่องปากด้วยการทดลองให้อาสาสมัครปฏิบัติตามวิธีที่ค้นพบในห้องปฏิบัติการ และประเมินความสามารถในการปฏิบัติซ้ำของวิธีอ้าปากที่ดีที่สุด ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าวิธีอ้าปากที่สามารถทำให้ตรวจช่องปากและลำคอได้อย่างชัดเจนและสะดวกที่สุดสำหรับผู้ป่วยในการปฏิบัติคือ “การอ้าปากกว้างและทำท่าเหมือนการหาว” โดยการหาวจะทำให้มีช่วงเวลาประมาณ 3-4 วินาที ที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถอ้าปากค้างอยู่ได้ ซึ่งยาวนานเพียงพอที่เภสัชกรจะสังเกตเห็นรอยโรคทั้งหมดและสามารถถ่ายภาพเพื่อนำมาใช้สื่อสารกับผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองโดยไม่ทำให้เกิดเสียงดังและไม่เกิดอาการเจ็บปวดอีกด้วย

ที่มา: Poowaruttanawiwit P, Krajangopat P. Oral Opening methods for oral and throat examination for differential diagnosis of acute pharyngitis and tonsillitis from viral or bacterial infection in community pharmacy setting. TJPP 2019;1:41-9.