ประเด็นที่สำคัญของแนวทางการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงของประเทศไทยฉบับล่าสุด

ประเด็นที่สำคัญของแนวทางการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงของประเทศไทยฉบับล่าสุด

            เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เว็บไซต์สมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงแนวทางทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไปของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ได้อย่างเป็นทางการ แนวทางดังกล่าวได้รวบรวมขึ้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์ต่าง ๆ ได้แก่ แนวทางการรักษาของประเทศต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือและการศึกษาทางคลินิกที่มีความตรงภายในสูงจำนวนมาก โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณากลั่นกรองข้อมูลแล้วว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับบริบทของประเทศไทยได้ โดยสรุปพบว่ารายละเอียดของคำแนะนำใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาของแนวทางการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงของประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. 2562 ในประเด็นที่แตกต่างจากแนวทางก่อนหน้า คือ 1. การตั้งเป้าหมายการรักษาโดยมุ่งเน้นเรื่องการลดความดันโลหิตและการจัดการเพื่อป้องกัน/ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและการตายมากกว่าการตั้งเป้าหมายโดยเน้นการลดค่าความดันโลหิตเป็นหลักเพียงอย่างเดียว  2. การกำหนดให้ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและการตายของผู้ป่วยโดยใช้ Thai CV risk score  3. การกำหนดให้นำข้อมูลการเกิด target organ damages การเกิดโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และคะแนนปัจจัยเสี่ยงจาก Thai CV risk score มาพิจารณาร่วมกับระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคและการพิจารณาให้การรักษา  4. การตั้งเป้าหมายการลดความดันโลหิตให้อยู่ในช่วง 120-130/70-79 mmHg (จากการวัดที่สถานพยาบาล) อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาตั้งเป้าหมายให้สูงกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย  5. การสนับสนุนให้ตรวจติดตามค่าความดันโลหิตที่บ้านให้มากขึ้นโดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติด้วยวิธีวัดที่ถูกต้อง และใช้ค่าดังกล่าวพิจารณาร่วมกับผลการตรวจวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะ white coat hypertension เป้าหมายคือ < 135/85 mmHg  6. การแนะนำผู้ป่วยให้มีการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมไปตลอดการรักษา  7. การพิจารณาใช้ยาลดความดันโลหิตตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ระบุข้อบ่งใช้ที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมสำหรับการเลือกใช้ยาลดระดับความดันโลหิตชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ (compelling indications) และ 8. การพิจารณาให้หรือไม่ให้ยาสำหรับป้องกันความเสี่ยงก่อนเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับผู้ป่วยแบบเฉพาะรายอย่างเหมาะสม เช่น พิจารณาให้ statins ในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงและมีความเสี่ยงสูง ไม่ให้ aspirin แก่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทุกราย โดยพิจารณาผลประโยชน์และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นสำหรับผู้ป่วยแบบเฉพาะรายก่อนให้ยาเสมอ เป็นต้น

ที่มา: สมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไปของประเทศไทย พ.ศ. 2562