HLA genotype บางชนิดมีความสัมพันธ์กับการแพ้ยากลุ่ม Beta-lactam ในผู้ป่วยเด็กชาวไทย
การแพ้ยาต้านจุลชีพกลุ่ม Beta-lactam (BL) พบรายงานการเกิดมากในเด็ก โดยปฏิกิริยาการแพ้อาจเกิดได้ตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อยไปจนถึงระดับความรุนแรงมาก เป็นได้ทั้งชนิดที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและแบบที่เกิดขึ้นช้า ปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับการบริบาลผู้ป่วยที่แพ้ยากลุ่มนี้ในทางคลินิกคือ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยรายใดจะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ หรือจะเกิดการแพ้แบบใด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันความรู้และเทคโนโลยีด้านเภสัชพันธุศาสตร์มีการพัฒนามากขึ้นเป็นอย่างมาก จึงมีแนวทางที่พอจะระบุเกี่ยวกับการแพ้ยากลุ่มนี้ได้มากขึ้น Singvijarn ดำเนินการวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุความสัมพันธ์ของ HLA genotype และการแพ้ยาต้านจุลชีพกลุ่มนี้ ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบ case-control study ดำเนินการวิจัยในผู้ป่วยเด็กจำนวน 117 ราย ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 1-18 ปี ผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติว่าไม่แพ้ยา BL ถูกประเมินภาวะแพ้ยา (true allergy) โดยการทำ skin test และ drug provocation test และคัดเลือกกลุ่ม control จากผู้ป่วยเด็กที่ไม่เกิดอาการแพ้ยากลุ่มนี้ในช่วง 7 วันหลังได้รับยา HLA genotype (HLA-A, HLA-B, HLA-C และ HLA-DRB1) ถูกนำไปทดสอบในผู้ป่วยกลุ่ม case จำนวน 24 ราย และกลุ่ม control จำนวน 93 ราย โดยใช้วิธี polymerase chain reaction sequence specific oligonucleotide probes ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า HLA genotype ที่มีความสัมพันธ์กับการแพ้ยา BL อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ HLA-C*04:06 (OR = 13.14, 95% CI 1.3-137.71; p = 0.027) และ HLA-C*08:01 (OR = 4.83, 95% CI 1.93-16.70; p = 0.016) โดย HLA-B*48:01 มีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน (OR = 37.4, 95% CI 1.69-824.59; p = 0.016) ในขณะที่ HLA-C*04:06, HLA-C*08:01 และ HLA-DRB1*04:06 มีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดขึ้นช้า ในจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ว่าแพ้ยากลุ่ม BL ทั้งหมดจำนวน 71 ราย พบว่ามี 7 รายที่ถูกประเมินภาวะแพ้ยาแบบ true hypersensitivity การวิจัยครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่ามีผู้ป่วยเด็กร้อยละ 10 ที่น่าจะแพ้ยากลุ่ม BL แบบ true hypersensitivity และ HLA genotype ที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการแพ้ยากลุ่ม BL ในผู้ป่วยเด็กชาวไทยคือ HLA-B, HLA-C และ HLA-DRB1 genotype
ที่มา: Singvijarn P, Manuyakorn W, Mahasirimongkol S, Wattanapokayakit S, Inunchot W, Wichukchinda N, et al. Asian Pac J Allergy Immunol. 2019 Apr 23. doi: 10.12932/AP-271118-0449.