การรับประทานไขมันหลังพบมะเร็งต่อมลูกหมากและความเสี่ยงการตายทุกสาเหตุ

การรับประทานไขมันหลังพบมะเร็งต่อมลูกหมากและความเสี่ยงการตายทุกสาเหตุ

JAMA Intern Med. 2013;173(14):1318-1326.

            บทความเรื่อง Fat Intake After Diagnosis and Risk of Lethal Prostate Cancer and All-Cause Mortality รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารหลังตรวจพบมะเร็งและการดำเนินโรคของมะเร็งต่อมลูกหมาก และการตายรวม นักวิจัยจึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานไขมันหลังตรวจพบมะเร็งและโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรุนแรงและการตายจากทุกสาเหตุ โดยศึกษาแบบ prospective study จากผู้ชาย 4,577 รายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแบบไม่มีการแพร่กระจายในการศึกษา Health Professionals Follow-up Study (ค.ศ. 1986-2010) โดยวัดการรับประทานไขมันหลังตรวจพบมะเร็งทั้งไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ไขมันทรานส์ ไขมันสัตว์ และไขมันจากพืช มาตรวัดผลลัพธ์ประกอบด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรุนแรง (มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น หรือเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก) และการตายทุกสาเหตุ

            นักวิจัยพบมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรุนแรง 315 ราย และตาย 1,064 ราย (มัธยฐานการติดตาม 8.4 ปี) อัตราอย่างหยาบต่อ 1,000 person-years สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรุนแรงมีดังนี้ (การรับประทานไขมันมากที่สุด vs น้อยที่สุด) 7.6 vs 7.3 สำหรับไขมันอิ่มตัว, 6.4 vs 7.2 สำหรับไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว, 5.8 vs 8.2 สำหรับไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน, 8.7 vs 6.1 สำหรับไขมันทรานส์, 8.3 vs 5.7 สำหรับไขมันสัตว์ และ 4.7 vs 8.7 สำหรับไขมันจากพืช ด้านผลลัพธ์การตายทุกสาเหตุพบว่า อัตราเท่ากับ 28.4 vs 21.4 สำหรับไขมันอิ่มตัว, 20.0 vs 23.7 สำหรับไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว, 17.1 vs 29.4 สำหรับไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน, 32.4 vs 17.1 สำหรับไขมันทรานส์, 32.0 vs 17.2 สำหรับไขมันสัตว์ และ 15.4 vs 32.7 สำหรับไขมันพืช การทดแทน 10% ของพลังงานที่ได้รับจากคาร์โบไฮเดรตเป็นไขมันจากพืชสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรุนแรง (hazard ratio [HR], 0.71; 95% CI, 0.51-0.98; p = 0.04) และการตายทุกสาเหตุ (HR, 0.74; 95% CI, 0.61-0.88; p = 0.001)  ขณะที่ไขมันประเภทอื่นไม่สัมพันธ์กับมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรุนแรง การรับประทานไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์หลังตรวจพบมะเร็ง (แทน 5% และ 1% ของพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต) สัมพันธ์กับการตายทุกสาเหตุที่สูงขึ้น (HR, 1.30 [95% CI, 1.05-1.60; p = 0.02] และ 1.25 [95% CI, 1.05-1.49; p = 0.01])

            ข้อมูลจากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่แพร่กระจายนี้พบว่า การทดแทนคาร์โบไฮเดรตและไขมันสัตว์ด้วยไขมันพืชอาจลดความเสี่ยงต่อการตายทุกสาเหตุ และควรที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มประโยชน์จากไขมันพืชสำหรับผลลัพธ์ที่จำเพาะต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก