การลด non-HDL อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถึงผลการศึกษาการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการศึกษาแบบอภิวิเคราะห์ของ Marston และคณะ ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Circulation ไว้ว่า “การลด non-HDL (atherogenic LDL และ VLDL particles) มีความสัมพันธ์สูงกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้” ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าการลด triglyceride (TG) ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อย่างไรก็ตาม การนำผลการศึกษานี้ไปใช้ในทางปฏิบัติอาจต้องคำนึงอยู่เสมอว่ายาที่มีประสิทธิภาพในการลดระดับ TG ได้ดี เช่น ยากลุ่ม fibrate หรือ gemfibrozil จะไม่สามารถลดระดับ LDL-C ได้มากนัก และอาจเกิดอันตรกิริยากับยาในกลุ่มหลัก เช่น ยากลุ่ม statin ได้ นอกจากนี้การใช้วิธีอื่นในการลดระดับ TG เช่น การรับประทาน marine-derived omega-3 fatty acids ที่มี Eicosapentaenoic acid: EPA ความเข้มข้นสูง ก็ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงมาสนับสนุน ดังนั้น สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำได้ ณ ปัจจุบันคือ การสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับยาลดระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแบบเฉพาะราย การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการใช้ยา การติดตามด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา การควบคุมและช่วยวางแผนเรื่องการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ที่มา: https://www.acc.org/latest-in-cardiology/ten-points-to-remember/2019/09/24/15/07/association-between-triglyceride-lowering