ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพของประชาชนชาวไทย

ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพของประชาชนชาวไทย

            ปัญหาหนึ่งที่พบว่ามีความสำคัญในระดับโลกรวมถึงประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ “ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาต้านจุลชีพ” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายที่ชัดเจนอย่างมากเพื่อลดปัญหาดังกล่าว หนึ่งในนโยบายที่มีความชัดเจนเป็นอย่างมาก คือ การเพิ่มการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล แต่สิ่งหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยยังมีข้อมูลไม่มากพอคือ ข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการกำหนดแผนการดำเนินงาน Chanvatik และคณะ จึงทำการศึกษาเพื่อประเมินเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพของประชาชนชาวไทยในแง่ต่าง ๆ ประกอบด้วย ข้อบ่งใช้ยา แหล่งที่ได้รับยา ความรู้เกี่ยวกับยา แหล่งที่ได้มาซึ่งความรู้ดังกล่าว และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับความรู้และการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับยาต้านจุลชีพ การศึกษาครั้งนี้มีรูปแบบเป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2560 โดยทำการสำรวจข้อมูลในอาสาสมัครกลุ่มผู้ใหญ่ทั่วประเทศจำนวน 27,762 ราย ใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผลการศึกษาพบว่าโรคที่มีการใช้ยาต้านจุลชีพสูงที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ โรคหวัด ภาวะไข้ และภาวะเจ็บคอ ตามลำดับ สำหรับแหล่งที่ประชาชนได้รับยาต้านจุลชีพสูงที่สุด ได้แก่ โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิก รองลงมาคือ ร้านยา นอกจากนี้ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพต่ำ โดยระดับการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ยาต้านจุลชีพได้อย่างสมเหตุผลมากขึ้น และพบว่าแหล่งของความรู้ดังกล่าวได้มาจากบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก การศึกษาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่ายังคงมีช่องว่างของประชาชนในแต่ละกลุ่มเรื่องความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพค่อนข้างมาก โดยช่องทางหลักที่ประชาชนจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับยาต้านจุลชีพคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ ดังนั้น การพัฒนาองค์ความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในบุคลากรกลุ่มนี้คู่ขนานไปกับการจัดการด้านนโยบายและกฎหมายจึงอาจเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในประชาชนชาวไทยมากขึ้นได้

ที่มา: Chanvatik S, Kosiyaporn H, Lekagul A, Kaewkhankhaeng W, Vongmongkol V, Thunyahan A, et al. Knowledge and use of antibiotics in Thailand: A 2017 national household survey. PLoS One. 2019 Aug 9;14(8):e0220990