ตรวจ CT รังสีต่ำลดการตายจากมะเร็งปอด

ตรวจ CT รังสีต่ำลดการตายจากมะเร็งปอด

N Engl J Med 2013;369:245-254.

            บทความเรื่อง Targeting of Low-Dose CT Screening According to the Risk of Lung-Cancer Death อ้างถึงข้อมูลจากงานวิจัย National Lung Screening Trial (NLST) ระบุว่า การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำสามารถลดการตายจากโรคมะเร็งปอดได้ 20% ในผู้เข้าร่วมวิจัยอายุระหว่าง 55-74 ปี ซึ่งสูบบุหรี่ปีละอย่างน้อย 30 ซอง และเลิกสูบบุหรี่มาแล้วไม่เกิน 15 ปี แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าประโยชน์และอันตรายจากการตรวจ CT รังสีต่ำมีความแตกต่างกันตามความเสี่ยงมะเร็งปอดหรือไม่

            นักวิจัยประเมินความแปรปรวนด้านประสิทธิผล จำนวนผลลัพธ์ที่เป็นผลบวกหลอก และจำนวนการตายเนื่องจากโรคมะเร็งปอดที่ป้องกันได้ในผู้เข้าร่วมวิจัย 26,604 รายในการศึกษา NLST ซึ่งได้ตรวจ CT แบบรังสีต่ำเทียบกับผู้เข้าร่วมวิจัย 26,554 รายที่เอกซเรย์ทรวงอกตามระดับความเสี่ยงการตายเนื่องจากโรคมะเร็งปอดที่ 5 ปี (ตั้งแต่ 0.15-55% ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด [quintile 1] ถึงไม่เกิน 2.00% ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด [quintile 5])

            จำนวนการตายจากเนื่องจากโรคมะเร็งปอดต่อ 10,000 person-years ที่สามารถป้องกันได้ในกลุ่มตรวจ CT เทียบกับกลุ่มเอกซเรย์สูงขึ้นตามระดับความเสี่ยง (0.2 ใน quintile 1, 3.5 ใน quintile 2, 5.1 ใน quintile 3, 11.0 ใน quintile 4 และ 12.0 ใน quintile 5; p = 0.01 for trend) และพบแนวโน้มที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญในจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีผลบวกหลอกต่อการตายเนื่องจากโรคมะเร็งปอดที่สามารถป้องกันได้จากการคัดกรอง (1,648 รายใน quintile 1, 181 รายใน quintile 2, 147 รายใน quintile 3, 64 รายใน quintile 4 และ 65 รายใน quintile 5) โดย 60% ของผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการตายเนื่องจากโรคมะเร็งปอด (quintiles 3-5) มีสัดส่วนเป็น 88% ของการตายเนื่องจากโรคมะเร็งปอดที่ป้องกันได้จากการคัดกรอง รวมถึง 64% ของผู้มีผลบวกหลอก ขณะที่ 20% ของผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีความเสี่ยงต่ำสุด (quintile 1) มีสัดส่วนเพียง 1% ของการตายเนื่องจากโรคมะเร็งปอดที่ป้องกันได้

            การตรวจคัดกรองด้วย CT แบบรังสีต่ำป้องกันการตายเนื่องจากโรคมะเร็งปอดได้มากที่สุดในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุด และป้องกันการตายได้น้อยมากในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำสุด ข้อมูลนี้สนับสนุนการจำแนกผู้สูบบุหรี่ตามระดับความเสี่ยงเพื่อตรวจ CT แบบรังสีต่ำ