‘ReArm’ นวัตกรรมใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชูนวัตกรรม ReArm จุดประกายความหวังการรักษาผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกและกล้ามเนื้ออ่อนแรง สร้างมิติใหม่การกายภาพบำบัดที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพจนได้รับรางวัลจากเวที i-CREATe 2019 โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมแสดงผลงานจาก 10 ประเทศทั่วโลก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมฯ ย้ำความสำเร็จต้องบูรณาการแนวคิดด้านวิศวกรรมและสุขภาพอย่างลงตัว
ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีม ‘ReArm’ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อได้รับรางวัล Merit Award (Technology) และ Best Prototype ในเวที Global Student Innovation Challenge จาก งานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ i-CREATe 2019 ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อไม่นานมานี้
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ReArm เป็นนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงและอัมพาตครึ่งซีกเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีความโดดเด่นด้านงานออกแบบกลไกให้ใช้งานสะดวก มีประสิทธิภาพและน้ำหนักเบากว่าอุปกรณ์การแพทย์รูปแบบเดิม ที่สำคัญคือ ลดภาระค่าใช้จ่ายและไม่เสียเวลาเดินทางเพื่อไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลหรือคลินิก
“ReArm ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้สามารถยกแขนและนิ้วมือต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และเมื่อผู้ป่วยเริ่มเดินได้เองแล้วยังสามารถนำอุปกรณ์นี้ใส่ไว้ที่หลัง (Backpack) เพื่อทำกิจวัตรประจำวันที่บ้านได้เหมือนคนปกติทั่วไป เช่น หยิบแก้วน้ำ รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งในทางทฤษฎีจะส่งเสริมงานกายภาพบำบัดหรือฟื้นฟูร่างกายได้ดียิ่งขึ้น”
ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวอีกว่า รางวัลครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของความร่วมมืออย่างบูรณาการเพื่อส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ สหเวชศาสตร์และนักกายภาพบำบัด ขับเคลื่อนให้นวัตกรรมของนักศึกษามีมิติสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลก กระทั่งชนะรางวัลในเวทีประกวด i-CREATe 2019 ซึ่งมีทีมต่าง ๆ เข้าแข่งขันถึง 40 ผลงาน จาก 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ สวีเดน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯลฯ
“ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก เราพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ และกระบวนการคิดที่ตอบโจทย์ปัญหา สร้าง Startup ระดับนักศึกษา และสร้างนักวิจัยที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทั้งประโยชน์ของสาธารณะและเชิงพาณิชย์ได้”
สำหรับทีม ReArm ประกอบด้วยนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ได้แก่ นายรมย์ พานิชกุล, นายอนัส สุภัคไพศาล และนายสิรภพ เจริญภิญโญยิ่ง พร้อมด้วย นางสาวคคนันท์ งามเด่นเจริญศรี นักกายภาพบำบัดและวิศวกรรมทางการแพทย์
นายรมย์ พานิชกุล ตัวแทนทีม ReArm กล่าวว่า นวัตกรรมนี้เริ่มจากความสนใจปัญหาผู้ป่วย Stroke จึงลงพื้นที่สัมผัสการทำกายภาพบำบัดของผู้ป่วยจริง ๆ ณ โรงพยาบาลและคลินิก เห็นปัญหาการฟื้นฟูแขนที่อ่อนแรงใช้เวลานาน แต่เมื่อร่างกายดีขึ้นแล้วผู้ป่วยส่วนมากจะไม่ไปกายภาพต่อที่โรงพยาบาลอีก เพราะมีภาระต้องเดินทางอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น เราจึงคิดค้นนวัตกรรม ReArm ที่พยุงน้ำหนักแขนได้ดีกว่าและทำกายภาพเองที่บ้านได้อย่างต่อเนื่อง มีน้ำหนักเบาเพียง 4 กิโลกรัม นำติดตัวหรือยึดกับโต๊ะทำให้ใช้งานได้สะดวก
“พวกเราภูมิใจมากที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยท่ามกลางทีมต่าง ๆ จากทั่วโลก รางวัลที่ได้รับในสาขาเทคโนโลยีนี้ ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และทีมนักกายภาพบำบัดที่ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและงานออกแบบสร้างสรรค์ที่นำมาสู่นวัตกรรม ReArm ในครั้งนี้”