ระบบตรวจจับอาการและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย

ระบบตรวจจับอาการและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย

            ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด จึงทำให้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านต่าง ๆ เป็นอย่างมาก สำหรับวงการแพทย์เองก็มีการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น portable echocardiogram, smart watch เพื่อตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าสนใจคือ ระบบ AI/Deep Learning ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของระบบโครงข่ายประสาทในสมองมนุษย์ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ และในขั้นตอนสุดท้ายจะส่งผลลัพธ์การประมวลผลออกมาตามที่ตั้งค่าไว้ ในปัจจุบัน AI/Deep Learning ถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ใช้ประเมินลักษณะและพฤติกรรมของสัตว์หรือมนุษย์ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายหรือก่อวินาศกรรม ในทางการแพทย์มีการนำมาใช้เพื่อติดตามและประเมินผู้ป่วยเพื่อป้องกันก่อนเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ โดยผู้ป่วยกลุ่มแรก ๆ ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ ได้แก่ ผู้ป่วยหนักใน ICU ระบบนี้จะใช้ตัวตรวจจับหลัก ๆ 4 ตัว ได้แก่ กล้อง Smart watch, หรืออุปกรณ์สวมใส่อื่น ๆ, Sensor ตรวจจับระดับเสียง, Sensor ตรวจจับระดับแสง เป็นต้น จากนั้นจึงส่งข้อมูลและนำเข้าประมวลผลร่วมกันผ่านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และแสดงผลเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น โอกาสเกิดภาวะช็อก หมดสติ ภาวะเครียด ภาวะวิตกกังวล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีการทำงานซับซ้อน และต้องใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ยังคงมีราคาสูง ดังนั้น การนำมาใช้จริงในทางปฏิบัติโดยทั่วไปอาจต้องรออีกระยะหนึ่ง แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาเพื่อลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ หรือส่งเสริมให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไปในอนาคต

ที่มา: Davoudi A, Malhotra KR, Shickel B, Siegel S, Williams S, Ruppert M, et al. Intelligent ICU for autonomous patient monitoring using pervasive sensing and deep learning. Sci Rep. 2019;9:8020.