Ultrasound พกพาชนิดไร้สายสำหรับนักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล
ครั้งแรกในโรงเรียนแพทย์!! คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนการสอนทางการแพทย์แก่นักศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยรักษาให้ทันท่วงที อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ด้วยอุปกรณ์ “Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย” ซึ่งได้เริ่มใช้งานจริงแล้วในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ในยุคดิจิทัลว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลัก ได้แก่ พันธกิจด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย พันธกิจด้านการทำวิจัยให้เกิดนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และพันธกิจด้านการศึกษาที่มีระบบการเรียนการสอนเป็นจุดเด่นเฉพาะให้แก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย และนักศึกษาปฏิบัติการฉุกเฉิน
อย่างที่ทราบกันว่า ระบบการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยในปัจจุบันค่อนข้างมีความรวดเร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หากเราสามารถพัฒนาจากจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการให้บริการรักษาพยาบาล ต่อยอดให้เกิดเป็นผลงานนวัตกรรมที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้มาก เช่นเดียวกันกับการพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยรักษาในเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยทางรังสีวินิจฉัยด้วยเครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย (Wireless) ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ปัญหาของเราได้ นั่นคือ เราสามารถนำเครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สายติดตัวไปได้ทุกที่เพื่อให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที และในด้านการเรียนการสอนโดยการนำเครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สายมาใช้สอนนักศึกษาแพทย์ในชั้นปรีคลินิก
ทั้งนี้การที่เราจะมีนวัตกรรมรูปแบบดังกล่าวมาใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ได้นั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ ซึ่งบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เข้าใจถึงความจำเป็นของเทคโนโลยีด้านการแพทย์ดังกล่าว จึงได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สายจำนวน 200 เครื่อง
รศ.นพ.สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง Ultrasound เพื่อการเรียนรู้ในชั้นปรีคลินิกว่า ท่ามกลางยุคแห่ง Technology Disruption ที่หลายภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโต แต่สำหรับการดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงของระบบดิจิทัลแบบฉับพลันนี้ได้ผลักดันให้เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด การศึกษาเรียนรู้ทางการแพทย์ก็มีความจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้อง ตอบโจทย์ และเท่าทันต่อบริบทของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยที่หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาศัยโอกาสที่มี New (Disruptive) Technology อันได้แก่ เครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย (Portable Wireless Ultrasound) มาสร้างให้เกิด “นวัตกรรมในกระบวนการเรียนการสอน” ให้แก่ “นักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล” โดยได้นำ Ultrasound พกพาชนิดไร้สายมาใช้ร่วมในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิกเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และพยาธิสภาพ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษาได้อย่างลึกซึ้งและผสมผสาน สร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น
รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง Ultrasound ฉับไวในผู้ป่วยฉุกเฉินว่า ในปัจจุบันห้องฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลมีการใช้เครื่อง Ultrasound เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าของเวชศาสตร์ฉุกเฉินในประเทศไทยได้พัฒนาไปถึงการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและก่อนมาถึงโรงพยาบาลให้เทียบเท่ากับการดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินด้วยบุคลากรกลุ่มที่เรียกว่า Paramedic และเช่นกันเครื่อง Ultrasound ก็อาจเป็นเหมือนตาคู่ที่ 2 ของ Paramedic ที่จะนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกโรงพยาบาลเช่นกัน
เครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย (Portable Wireless Ultrasound) สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในห้องฉุกเฉินและการดูแลผู้ป่วยก่อนมาถึงโรงพยาบาล การนำเครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สายมาใช้ในการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการฝึกอบรมด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ และจะเป็นต้นแบบการฝึกอบรมของสถาบันอื่นในประเทศไทยต่อไป
นศพ.พรลภัส เชนวรรณกิจ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 กล่าวถึงผลลัพธ์จากประสบการณ์การใช้เครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สายว่า ครั้งแรกที่ได้สัมผัสเครื่อง Ultrasound ชนิดพกพาก็ทำให้รู้สึกได้ว่า เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก เป็นนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วย ซึ่งจากประสบการณ์การใช้เครื่อง Ultrasound ชนิดพกพามาแล้ว 1 เดือนในแผนกฉุกเฉิน ทำให้มีความสะดวกขึ้นมากในการวินิจฉัยอาการ โดยไม่ต้องรอคิวเข็นเตียงผู้ป่วยเพื่อใช้เครื่อง Ultrasound ขนาดใหญ่ที่มีใช้กันอยู่ และทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในขั้นตอนนี้เป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุมา เราก็สามารถใช้ Ultrasound เพื่อหาสาเหตุต่าง ๆ ที่สงสัยได้รวดเร็ว เช่น ภาวะปอดรั่ว-แตก ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากเราทำการวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำก็สามารถทำหัตถการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที
ประโยชน์จากการได้ใช้เครื่อง Ultrasound ชนิดพกพายังทำให้ได้ฝึกฝนการทำ Ultrasound ได้มากขึ้น เนื่องจากมีเครื่องอยู่ในมือเรา สามารถทำในเวลาใดก็ได้ ค่อนข้างมีความสะดวก และจะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อเรียนจบไปเป็นแพทย์อยู่ต่างจังหวัดที่อาจไม่มีคนคอยดูแลตลอดเวลา ทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วการใช้เครื่อง Ultrasound ชนิดพกพายังสามารถบันทึกเป็นวิดีโอหรือรูปภาพไว้บนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ทำให้สามารถเรียกดูได้สะดวก เหมาะแก่การเรียนรู้และฝึกฝนเป็นอย่างยิ่ง การนำนวัตกรรมดังกล่าวนี้มาใช้ในการเรียนการสอนนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ที่สามารถเพิ่มความรู้ความสามารถและใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
karşıyaka escort