เลี้ยงด้วยนมแม่ดีต่อเชาวน์ปัญญาของทารก

เลี้ยงด้วยนมแม่ดีต่อเชาวน์ปัญญาของทารก

JAMA Pediatr. Published online July 29, 2013

บทความวิจัยเรื่อง Infant Feeding and Childhood Cognition at Ages 3 and 7 Years: Effects of Breastfeeding Duration and Exclusivity รายงานว่า แม้การเลี้ยงด้วยนมแม่อาจส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญาของทารก แต่งานวิจัยที่ศึกษาระยะการเลี้ยงด้วยนมแม่หรือเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวยังคงมีจำนวนน้อย ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ศึกษาบทบาทของอาหารที่แม่รับประทานระหว่างช่วงให้นมต่อเชาวน์ปัญญาของทารก

นักวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะการเลี้ยงด้วยนมแม่และการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวต่อเชาวน์ปัญญาของเด็กที่อายุ 3 ปี และ 7 ปี และประเมินอิทธิพลจากการรับประทานปลาของแม่ระหว่างให้นมซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงทารกและระดับเชาวน์ปัญญาในภายหลัง

การศึกษาเป็นแบบ prospective cohort study (Project Viva) รวบรวมจากมารดาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1999 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 และติดตามจนถึงเด็กอายุครบ 7 ปี รวมแม่และเด็ก 1,312 ราย โดย exposure ของการศึกษาคือ ระยะการเลี้ยงด้วยนมแม่จนถึงอายุ 12 เดือน มาตรวัดผล ได้แก่ การเรียนรู้ภาษาของเด็กจาก Peabody Picture Vocabulary Test วัดที่ 3 ปี, Wide Range Assessment of Visual Motor Abilities วัดที่ 3 และ 7 ปี และ Kaufman Brief Intelligence Test and Wide Range Assessment of Memory and Learning วัดที่ 7 ปี

หลังจากปรับปัจจัยด้านสังคม-ประชากร เชาวน์ปัญญาของแม่ และสภาพแวดล้อมที่บ้านใน linear regression พบว่า ระยะการเลี้ยงด้วยนมแม่ที่นานขึ้นสัมพันธ์กับคะแนน Peabody Picture Vocabulary Test ที่สูงขึ้นที่ 3 ปี (0.21; 95% CI, 0.03-0.38 จุดต่อเดือนที่เลี้ยงด้วยนมแม่) และผลทดสอบเชาวน์ปัญญาที่สูงขึ้นจาก Kaufman Brief Intelligence Test ที่ 7 ปี (0.35; 0.16-0.53 verbal points ต่อเดือนที่เลี้ยงด้วยนมแม่ และ 0.29; 0.05-0.54 non-verbal points ต่อเดือนที่เลี้ยงด้วยนมแม่) แต่ระยะการเลี้ยงด้วยนมแม่ไม่สัมพันธ์กับคะแนน Wide Range Assessment of Memory and Learning ประโยชน์ของการเลี้ยงด้วยนมแม่จากการทดสอบ Wide Range Assessment of Visual Motor Abilities ที่ 3 ปีค่อนข้างสูงกว่าในผู้หญิงที่รับประทานปลาสัปดาห์ละ 2 ส่วนหรือมากกว่า (0.24; 0.00-0.47 จุดต่อเดือนที่เลี้ยงด้วยนมแม่) เทียบกับผู้หญิงที่รับประทานปลาน้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ส่วน (-0.01; -0.22 ถึง 0.20 จุดต่อเดือนที่เลี้ยงด้วยนมแม่) (p = 0.16 for interaction)

ผลลัพธ์นี้สนับสนุนว่าระยะการเลี้ยงด้วยนมแม่สัมพันธ์กับการรู้ภาษา รวมถึงเชาวน์ปัญญาชนิดใช้ภาษาและไม่ใช้ภาษา