การประยุกต์ใช้ Clinical scoring tools สำหรับวางแผนรักษาโรคคออักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันสำหรับงานเภสัชกรชุมชนในบริบทของประเทศไทย

การประยุกต์ใช้ Clinical scoring tools สำหรับวางแผนรักษาโรคคออักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันสำหรับงานเภสัชกรชุมชนในบริบทของประเทศไทย

            โรคคออักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน (acute pharyngitis/acute tonsillitis) มีอาการแสดงหลักร่วมกันคือ ภาวะเจ็บคอเฉียบพลัน และมีอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรค หากสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสจะมีอาการแสดงคือ “คอแดง ลิ้นไก่บวมแดง และต่อมทอนซิลบวมแดง” ในขณะที่หากสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการแสดงคือ “คอแดง ลิ้นไก่บวมแดง ต่อมทอนซิลบวมแดงและพบจุดหนอง ลิ้นมีฝ้าสีเทาปกคลุม และเพดานอ่อนเกิดจุดเลือดออก” เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอาการแสดงที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 สาเหตุมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากแยกสาเหตุของโรคผิดพลาดจะนำไปสู่การรักษาที่ไม่เหมาะสมได้ในที่สุด ในปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ทำนายโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่มีหลายชนิด เรียกว่า clinical scoring tools (CST) แต่ที่นิยมใช้และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในแนวทางการรักษาต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศคือ Centor score, McIsaac score, FeverPain เป็นต้น ซึ่งมีข้อจำกัดที่สำคัญในการนำไปใช้ในบริบทของประเทศไทยคือ “ไม่สามารถใช้อย่างตรงไปตรงมาได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทร้านยา เนื่องจาก 1. จะไม่มีการตรวจร่างกายแบบรุกล้ำเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย เช่น การกดลิ้นเพื่อตรวจลำคอ และ 2. จะไม่มีการตรวจยืนยันผลการติดเชื้อแบคทีเรียโดยการใช้ rapid antigen detection test จากน้ำลายหรือสิ่งส่งตรวจภายในลำคอในร้านยา ดังนั้น การนำ CST ไปปฏิบัติจึงเป็นลักษณะของ “การประยุกต์ใช้” โดยแนวทางการแยกโรคคอหอยอักเสบและทอนซิลอักเสบเฉียบพลันสำหรับงานเภสัชกรชุมชนในบริบทของประเทศไทยในกรณีที่ใช้ CST คือ ในกรณีที่ได้คะแนนเท่ากับ 3-4, ≥ 4 หรือ ≥ 4 จาก Centor score, McIsaac score, FeverPain ตามลำดับ ให้พิจารณาใช้ยาต้านจุลชีพได้ แต่หากได้คะแนนเท่ากับ 2, 2-3 และ 2-3 ตามลำดับ ให้พิจารณาในเชิงรายละเอียดก่อนว่าได้คะแนนประเมินข้อใด ในกรณีที่เป็นอาการแสดงของภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไข้สูง ≥38 °C, ต่อมน้ำเหลืองหน้าคอโต และต่อมทอนซิลบวมแดงและพบจุดหนองอาจพิจารณาจ่ายยาต้านจุลชีพได้ แต่หากเป็นเรื่องไม่มีอาการไอและอายุอาจพิจารณาติดตามและให้การรักษาตามอาการไปก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแสดงของการติดเชื้อเกิดขึ้นจึงใช้ยาต้านจุลชีพ

ที่มา: Poowaruttanawiwit P, Srikwan R, Wannalerdsakun S. Review of an update on differential diagnosis between acute pharyngitis and tonsillitis. TJPP 2019;4:49-59.