ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ และ ศ.นพ.เดวิด เมบี เจ้าของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2562
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2562 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย
สำหรับผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2562 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2562 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
ทั้งนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2562 ทั้งสิ้น 66 ราย จาก 35 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ 2562, 2561, 2560 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
โดยระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 83 ราย มีคนไทยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย ได้แก่ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก, ศ.พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2539, นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ และ นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2552
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลแล้วต่อมาได้รับรางวัลโนเบล 5 ราย ได้แก่
ศ.แบรี่ เจมส์ มาแชล จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2548 ด้วยการค้นพบเดียวกัน
ศ.เกียรติคุณ นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2551 จากการค้นพบเดียวกัน
ศ.ซาโตชิ โอมูระ จากประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2540 จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิดหนึ่งชื่อ Streptomyces avermitilis จนสามารถสังเคราะห์ยา ivermectin ใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2558 จากผลงานเดียวกัน
ศ.ตู โยวโยว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสมาชิกของกลุ่ม China cooperative research group on qinghaosu and its derivatives as antimalarials ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2546 จากการศึกษาสารสกัดชิงเฮาซูจนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2558 จากการศึกษาเดียวกัน
เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างและดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูง และมีความเป็นสิ่งแปลกปลอมลดลง (Antibody Humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายากลุ่มใหม่จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2561 จากการพัฒนาเดียวกัน
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาการแพทย์
ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กและหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ มีผลงานที่โดดเด่นคือ การศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus หรือ HCV) นำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะ และปลอดภัย
หลังการค้นพบเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในปี พ.ศ. 2532 เป็นเวลากว่า 10 ปีที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแยกเชื้อดังกล่าวด้วยเซลล์เพาะเลี้ยง ศ.ดร.บาร์เทนชลากเกอร์ และคณะ ได้ค้นพบวิธีเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสนี้ในเซลล์เพาะเลี้ยง และสร้างแบบจำลองชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสได้ ทำให้เปิดโอกาสในการค้นหาสารจำนวนมากที่สามารถเป็นยาต้านไวรัสชนิดนี้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังค้นพบชิ้นส่วนของโปรตีนที่ไม่มีโครงสร้าง (เอนเอส 3) ซึ่งสร้างเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัส และพบว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของยาที่สามารถต้านเชื้อนี้ได้ ผลการศึกษานี้นำไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นใหม่ที่เรียกว่า ดีเอเอ (DAA: direct acting antiviral) ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังให้หายได้ถึงร้อยละ 95 โดยมีผลข้างเคียงน้อยลง
ปัจจุบันมีมากกว่า 71 ล้านคนทั่วโลกที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง และนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวประมาณ 4 แสนคนในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวยังมีราคาสูง แต่ด้วยเป้าหมายที่จะลดการแพร่ระบาดของไวรัสตับอักเสบซี จึงได้มีความช่วยเหลือสำหรับประเทศยากจน ทำให้มีประชากรเข้าถึงการรักษาด้วยยาดีเอเอได้เพิ่มขึ้นจาก 1-1.5 ล้านคนในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 และขณะนี้มีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีโครงการให้การรักษาด้วยยาดีเอเอแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ สำหรับประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ต่อรองราคายาลงกว่าร้อยละ 70 และบรรจุยานี้ใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้คนไทยทุกสิทธิประกันสุขภาพและประกันสังคมใช้สิทธิการรักษาได้
ศ.ดร.บาร์เทนชลากเกอร์ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำมากกว่า 300 เรื่อง และได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิ รางวัล Robert Koch Award (2558), Lasker-DeBakey Award (2559) และ Hector Prize (2560) ด้วยความมุ่งมั่นในการศึกษาและค้นพบที่สำคัญของ ศ.ดร.บาร์เทนชลากเกอร์ ทำให้สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาการสาธารณสุข
ศ.นพ.เดวิด เมบี ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อ และภาควิชาวิจัยคลินิก วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร
ศ.นพ.เดวิด เมบี ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตามากว่า 30 ปี โรคริดสีดวงตาเป็นการติดเชื้อของตาที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Chlamydia trachomatis ซึ่งทำให้ตาบอดหรือเกิดความพิการทางสายตาได้มากถึงปีละ 1.9 ล้านคนทั่วโลก การติดเชื้อแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากตาหรือจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และไม่มีแหล่งน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้เพียงพอ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ศ.นพ.เมบี และคณะ ได้ศึกษาในพื้นที่ของประเทศแกมเบียและแทนซาเนีย และค้นพบว่าการตาบอดจากโรคริดสีดวงตาเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ในปี พ.ศ. 2536 ได้แสดงว่าการให้ยา azithromycin เพียง 1 ครั้งสามารถรักษาโรคริดสีดวงตาอย่างได้ผล จึงได้มีการศึกษาแบบพหุสถาบันเพื่อแสดงให้เห็นว่าการให้ยาดังกล่าวในชุมชนแบบประจำปี สามารถลดการแพร่กระจายของโรคนี้ได้ ดังนั้น จึงค้นพบว่าการให้ยา azithromycin แบบครอบคลุมประชากรจำนวนมากสามารถช่วยกำจัดโรคนี้ให้หมดไปได้ในถิ่นที่เป็นแหล่งระบาดของโรค
ผลงานวิจัยนี้นำไปสู่นโยบายขององค์การอนามัยโลกที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปด้วยโปรแกรมเซฟ (SAFE) ประกอบด้วย การควบคุมโรคโดยการผ่าตัด (surgery), การรักษาแบบครอบคลุมด้วยยาปฏิชีวนะ (antibiotic), ส่งเสริมการล้างหน้า (face washing) และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย (environment) โดยมีการให้ยา azithromycin ถึง 700 ล้านโด๊ส สำหรับประชาชนใน 40 ประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2560 ขณะนี้มี 13 ประเทศที่รายงานว่าสามารถกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปได้สำเร็จแล้ว องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปจากปัญหาทางสาธารณสุข และไม่เป็นสาเหตุของตาบอดในทุกประเทศทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2568
ศ.นพ.เมบี มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำกว่า 200 เรื่อง และได้รับรางวัลต่าง ๆ เกี่ยวกับการศึกษาปัญหาสุขภาพในเขตร้อน รวมถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Commander of the British Empire (CBE) โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2557 จากผลงานการให้บริการเพื่อพัฒนาสุขภาพในเอเชียและแอฟริกา ด้วยความพยายามในการศึกษาวิจัยเพื่อควบคุมและกำจัดโรคริดสีดวงตาที่ทำให้ตาบอดของ ศ.นพ.เมบี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนหลายล้านคนทั่วโลกดีขึ้น