ข้อควรพิจารณาก่อนเลือกใช้ DOAC ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
Direct oral anticoagulant; DOAC (Xa inhibitor, fibrin inhibitor) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งโดยตรงที่ factor Xa หรือ fibrin ส่งผลทำให้ไม่เกิดการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น ในทางทฤษฎีดูเหมือนว่ายากลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่ายาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวเก่า เช่น warfarin และสามารถใช้ได้สะดวกกว่ามากเนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีการติดตามค่า INR อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจกลับมีการระบุว่าห้ามใช้ยากลุ่ม DOAC เนื่องจากพบรายงานจากการศึกษาทางคลินิกว่าเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ warfarin ในขณะที่ผลในการต้านการแข็งตัวของเลือดในทางคลินิกไม่ได้ดีเหนือกว่า ทั้งนี้เนื่องมาจากการเปลี่ยนลิ้นหัวใจจะส่งผลที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. ลิ้นหัวใจมีคุณสมบัติเป็น thrombogenic materials โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลิ้นหัวใจชนิดโลหะ” จะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการ protein absorption และ platelet adhesion ได้ ซึ่งทั้ง 2 เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการสร้างลิ่มเลือด และ 2. การใส่ลิ้นหัวใจอาจทำให้เกิด turbulence flow เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อ blood stasis โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีภาวะ low cardiac output หรือผู้ที่เปลี่ยนลิ้นหัวใจที่ตำแหน่ง mitral จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดในกระบวนการ intrinsic pathway มากขึ้น หลักฐานเชิงประจักษ์จาก preclinical studies ต่าง ๆ และ RE-ALIGN trial (Dabigatran versus warfarin in patients with mechanical heart valves) สามารถสรุปได้ว่า หากต้องการเลือกใช้ยากลุ่ม DOAC ในผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็อาจทำได้ แต่จะต้องมีการพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยแบบเฉพาะรายก่อนเสมอ โดย DOAC อาจมีประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีลักษณะบางอย่าง เช่น มีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจมาแล้วมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป เป็นลิ้น aortic และแบบ low thrombogenicity ผู้ป่วยมีลักษณะเป็น preserved systolic function มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติต่ำ ไม่มีโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ และมีความร่วมมือในการใช้ยาดี แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ แนวทางการรักษาต่าง ๆ ในปัจจุบันยังคงระบุว่าห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจอยู่ โดยเฉพาะ mechanical valve replacement ที่ mitral position อย่างไรก็ตาม ยังคงมีงานวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาอยู่และต้องติดตามต่อไปว่าจะมีหลักฐานใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาออกมาอีกหรือไม่ ในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น the RIWA Study (Rivaroxaban versus warfarin in patients with mechanical heart valves) เป็นต้น
ที่มา: