บทบาทของ Low-dose macrolides ใน Chronic sinusitis
Chronic rhinosinusitis (CRS) เป็นภาวะอักเสบของโพรงจมูก ณ ตำแหน่ง paranasal sinuses ชนิดเรื้อรังมากกว่า 12 สัปดาห์ แบ่งออกเป็นอีก 3 ชนิดย่อย ได้แก่ CRS without nasal polyposis (CRS without NP), CRS with nasal polyposis (CRS with NP) และ Allergic fungal rhinosinusitis (AFRS) โดยการรักษาจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม CRS เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ยากมาก หากผู้ป่วยไม่กำจัดสาเหตุให้ได้อย่างตรงจุดหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสปัจจัยกระตุ้นให้ได้โดยเด็ดขาด การใช้ยาต้านจุลชีพจะมีข้อบ่งใช้เฉพาะในกรณีที่สาเหตุของโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น และจากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในระดับเซลล์ได้ด้วย ดังนั้น จึงมีคำถามว่า “การใช้ยาต้านจุลชีพที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในระดับเซลล์ร่วมด้วยจะสามารถช่วยรักษาภาวะ CRS ได้หรือไม่ อย่างไร? และมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จได้ คืออะไรบ้าง?” Seresirikachorn และคณะ ได้ดำเนินการศึกษาโดยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและทำการศึกษาแบบอภิวิเคราะห์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลการรักษาภาวะ CRS โดยการใช้ low-dose macrolides (LDMs) ผู้วิจัยดำเนินการสืบค้นโดยใช้แหล่งข้อมูลทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย ประกอบด้วยแหล่งข้อมูลที่ได้รับและไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ดำเนินการคัดเลือกงานวิจัยทางคลินิกเฉพาะที่มีอคติต่ำ และประเมิน risk of bias โดยคณะกรรมการประเมินที่มีความเป็นอิสระต่อกัน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์รวมกัน ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่าการใช้ LDMs มีประสิทธิภาพในการรักษา CRS (ประเมินผลลัพธ์หลักจาก Sino-Nasal Outcome Test [SNOT]) ได้ไม่แตกต่างจากการใช้ยาหลอก โดยมีค่า mean difference (MD) คือ -0.23 , 95% confidence interval [CI]: -0.69 to 0.24 แต่เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมในกลุ่มย่อยพบว่าการใช้ half dose macrolide เพื่อรักษา CRS without NP มีแนวโน้มมีประสิทธิภาพในการรักษา CRS แตกต่างจากการใช้ในผู้ป่วยที่มี NP อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ SMD = -0.64, 95% CI: -1.01 to -0.27 เมื่อใช้ติดต่อกันนาน 24 สัปดาห์ สำหรับผลการศึกษาในแง่ความปลอดภัยพบว่ามีรายงานการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์เฉพาะระบบทางเดินอาหารเท่านั้น โดยไม่พบอาการอันไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าประสิทธิผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวเกิดจากการรวมผลการศึกษาจำนวนน้อย มี heterogeneity สูง และมีอคติที่สำคัญในระเบียบวิธีวิจัยบางประการ ดังนั้น การนำ LDMs ไปใช้รักษา CRS ในทางคลินิกจึงยังไม่อาจทำนายผลได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างเคร่งครัดก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ
ที่มา: