PEG อาจไม่ใช่ยาระบายที่ดีที่สุดสำหรับเด็กชาวไทย

PEG อาจไม่ใช่ยาระบายที่ดีที่สุดสำหรับเด็กชาวไทย

            “ท้องผูก” เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กซึ่งจะทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดแน่น ไม่สบายท้อง และอาจทำให้เกิดอาการปวดมากหรือผิวหนังบริเวณทวารหนักเกิดการฉีกขาดเมื่อถ่ายอุจจาระได้ อาจส่งผลทำให้เด็กกลัวการถ่ายอุจจาระและทำให้เกิดภาวะท้องผูกชนิดเรื้อรังตามมา แนวทางการรักษาภาวะท้องผูกแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น ฝึกนิสัยการขับถ่ายอุจจาระ เป็นต้น และการรักษาโดยการใช้ยาระบาย ซึ่งการใช้ยาระบายจะเข้ามามีบทบาทมากในกรณีที่อาการท้องผูกรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการไม่ใช้ยา จากหลักฐานเชิงประจักษ์พบว่ามียาระบายหลายชนิดที่ระบุว่าสามารถใช้ได้ในเด็ก อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์และข้อควรระวังด้านความปลอดภัยมีความแตกต่างกันออกไป ยาระบายตัวหนึ่งที่แนะนำให้ใช้เป็นลำดับแรก ๆ ในเด็กของแนวทางการรักษาต่าง ๆ คือ polyethylene glycol (PEG) แต่ยานี้ค่อนข้างมีราคาสูงจึงทำให้จำกัดการเข้าถึงยาในผู้ที่มีปัญหาด้านเศรษฐานะ Chanpong และคณะ จึงสนใจทำการศึกษาเชิงพรรณนาชนิดติดตามข้อมูลย้อนหลัง เพื่อบรรยายผลทางคลินิกของการใช้ยาระบายกลุ่มต่าง ๆ ในเด็กที่มีภาวะท้องผูก การศึกษานี้ใช้แหล่งข้อมูลคือ เวชระเบียนผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 15 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะท้องผูกตามเกณฑ์ของ ROME IV ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2007-2015 ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในการศึกษาครั้งนี้พบว่ามีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 104 ราย มีค่ามัธยฐานของอายุคือ 2.8 ปี และมีการติดตามข้อมูลอยู่ในช่วง 6-84.2 เดือน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ PEG คิดเป็นร้อยละ 21 ของผู้ป่วยทั้งหมด ร้อยละ 76 ของผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการดีขึ้นโดยมีค่ามัธยฐานของเวลาฟื้นตัวคือ 9.8 เดือน และไม่พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกระหว่างการฟื้นตัวของภาวะท้องผูกระหว่างผู้ที่ได้รับและไม่ได้รับ PEG และพบว่าปัจจัยที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จคือ การใช้ยาในเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป ไม่มีประวัติการแพ้นมวัว เป็นต้น จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า PEG อาจไม่ใช่ทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดเสมอไป โดยการใช้ยาระบายกลุ่มอื่น ๆ และปรับตามการตอบสนองต่อผลการรักษาของผู้ป่วยอาจเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้เช่นกัน และจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่ายาระบายที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนว่าสามารถใช้ได้ในเด็ก เช่น glycerin suppository (เป็นยาหลักในเด็กอายุ < 2- ≥ 12 ปี), PEG และ psyllium powder (เป็นยาหลักในเด็กอายุ 6- ≥12 ปี) สำหรับยาทางเลือก เช่น lactulose, lactitol, sorbitol, MOM, mineral oil, senna, bisacodyl เป็นต้น

ที่มา:

  1. Chanpong A, Osatakul S. Laxative Choice and Treatment Outcomes in Childhood Constipation: Clinical Data in a Longitudinal Retrospective Study. Pediatr Gastroenterol Hepatol Nutr. 2018 Apr;21(2):101-10.
  2. ภาวะท้องผูก. ปวีณา สนธิสมบัติ. Evidence-based pharmacotherapy of common disease in community. Step by step
  3. Xinias I, Mavroudi A. Constipation in Childhood. An update on evaluation and management. Hippokratia. 2015 Jan-Mar;19(1):11-9.
karaburun escort