เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลกับโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง

เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลกับโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง

            ในปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิตอล ระบบออนไลน์ และ social media ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น Guo และคณะ ดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง เรียกว่า “Hospital-community-family-based telehealth program” ในรูปแบบการบูรณาการข้ามศาสตร์วิชาผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ (จากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชน) ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ มีการดูแลตนเองด้านการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกำเริบของโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง เช่น การจัดโปรแกรมการควบคุมน้ำหนัก การช่วยบันทึกผลการวัดความดันโลหิต การช่วยให้เกิดความร่วมมือในการใช้ยาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าหากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับความพร้อมของโรงพยาบาลเครือข่ายที่สอดคล้องกับความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีและความสามารถในการใช้ของผู้ป่วยหรือผู้ดูแลจะสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้ในประเทศไทยจะต้องมีการคำนึงถึงในอีกหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น 1. ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อรองรับเรื่องการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกล  2. ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และ 3. ความแตกฉานด้านสุขภาพของประชาชนชาวไทยยังมีความแตกต่างกันสูง และแตกต่างจากกลุ่มตัวอย่างในการศึกษา ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้และพิจารณาการนำไปใช้อย่างรัดกุมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของพื้นที่ของตนต่อไป

ที่มา: Guo X, Gu X, Jiang J, Li H, Duan R, Zhang Y, et al. A hospital-community-family-based telehealth program for patients with chronic heart failure: single-arm, prospective feasibility study. JMIR Mhealth Uhealth. 2019 Dec 13;7(12):e13229. doi: 10.2196/13229.