วิธีตรวจไวรัสในอากาศสำหรับบริบทโรงพยาบาลของประเทศไทย

วิธีตรวจไวรัสในอากาศสำหรับบริบทโรงพยาบาลของประเทศไทย

          ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2) นำไปสู่การเกิดโรค COVID-19 ในประชากรเป็นวงกว้าง และนำไปสู่การเกิดอาการแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจและทำให้ประชากรหลายแสนคนต้องเสียชีวิต หลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าโรคนี้ระบาดจากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นที่สรุปชัดเจนว่าละอองฝอยดังกล่าวอยู่ในลักษณะที่เป็น droplets หรือ aerosols ขนาดปานกลางถึงใหญ่ อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกตลอดจนหน่วยงานทางการสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ได้แนะนำให้ประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการสัมผัสและการแพร่กระจายของเชื้อ ในสถานที่บางแห่งของโรงพยาบาล เช่น หอผู้ป่วย ห้องโถงตรวจผู้ป่วย ห้องตรวจผู้ป่วย หรือบริเวณต่าง ๆ ของโรงพยาบาล พบว่ามีลักษณะเป็นระบบปิดมากกว่าสถานที่ทั่วไป ดังนั้น หากมีการรวมตัวของผู้ป่วยหรือประชาชนในช่วงวัยต่าง ๆ และไม่มีมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่ดีพอก็อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าสถานที่เปิดโดยทั่วไป และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจไวรัสในอากาศที่สามารถทำได้ในบริบทโรงพยาบาลของประเทศไทย ดังนั้น Poowaruttanawiwit และคณะ จึงดำเนินงานวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบในเรื่องวิธีการตรวจไวรัสในอากาศในสถานพยาบาลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และ 2. สร้างวิธีต้นแบบสำหรับตรวจไวรัสในอากาศสำหรับสถานพยาบาลทั่วไป ดำเนินงานวิจัยโดยเริ่มจากการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรทั่วโลก และสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูล ได้แก่ PubMed, Cochrane Central Register of Control Trials (CENTRAL), Google Scholar, ScienceDirect, Web of Science, CINALH, Open Grey, DART-Europe ThaiLIS, ThaiJO และ Thai Index Medicus ผลลัพธ์ที่สนใจคือ วิธีการตรวจไวรัสในอากาศ ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมได้ถูกสังเคราะห์ให้เกิดประเด็นสำคัญและนำมาสร้างวิธีต้นแบบสำหรับตรวจไวรัสในอากาศสำหรับสถานพยาบาลทั่วไป วิธีต้นแบบประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การเตรียมตัวอย่างไวรัสในอากาศ  2. การเตรียม virus suspension  3. การย้อมสีอนุภาคไวรัสด้วย fluorescence dye  4. การล้าง fluorescence dye และ 5. การส่องภายใต้แสงเลเซอร์เพื่อติดตามการเรืองแสงของอนุภาคไวรัส การศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้วิธีต้นแบบสำหรับตรวจไวรัสในอากาศสำหรับสถานพยาบาลทั่วไป ซึ่งต้องมีการทดสอบในห้องปฏิบัติการและการตรวจวัดในสถานพยาบาลจริงต่อไป

ที่มา:

  1. Poowaruttanawiwit P, Phromchim S, Rattanamanee K, Rachapradit N, Wannalerdsakun S, Wuthiekanun V, et al. Systematic review of the methodology for airborne virus detection to propose prototype for health facilities. TJPP.2021; article in press.
  2. http://www.koreabiomed.com/news/articleView.html?idxno=9627