ผลประเมินการแยกโรคคอหอยอักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันโดยใช้เครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Group A Streptococci ในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศไทยยังมีการแนะนำให้ใช้เครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Group A Streptococci (GAS) ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น รายงานโครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยา พ.ศ. 2555 แนะนำให้ใช้เครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยง คือ Mclsaac score ในขณะที่คู่มือการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พ.ศ. 2555 แนะนำให้ใช้เครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยงคือ Centor score ตามลำดับ สำหรับงานวิจัยในระดับนานาชาติพบว่า FeverPAIN เป็นเครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ GAS ชนิดใหม่ที่ถูกนำไปใช้ในงานวิจัยเป็นจำนวนมาก และได้รับการแนะนำให้ใช้โดย The National Institute of Health and Care Excellence พ.ศ. 2562 ให้เป็นเครื่องมือที่ใช้ประเมินเบื้องต้นเพื่อแยกโรคหรือทำนายโอกาสการติดเชื้อ GAS จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหากในทางปฏิบัติมีการประเมินผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยงที่แตกต่างกันอาจนำไปสู่การตัดสินใจจ่ายหรือไม่จ่ายยาปฏิชีวนะที่แตกต่างกันได้ ดังนั้น Srikwan และคณะ จึงดำเนินงานวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการแยกโรคคอหอยอักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันโดยใช้เครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ GAS ได้แก่ Centor score, McIsaac score และ FeverPAIN โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่าเมื่อใช้เครื่องมือ Centor score, McIsaac score และ FeverPAIN มีจำนวนอาสาสมัครที่มีคะแนนถึงเกณฑ์การตัดสินการจ่ายยาปฏิชีวนะคือ 106, 63 และ 98 ครั้ง ตามลำดับ ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ของอาสาสมัครที่เข้าร่วมการวิจัยในครั้งนี้ และการทำนายโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ GAS โดยการใช้เครื่องมือ McIsaac score ทำให้มีคะแนนถึงเกณฑ์การตัดสินการจ่ายยาปฏิชีวนะต่ำที่สุดคือ ร้อยละ 5.13 ยาปฏิชีวนะที่ถูกสั่งจ่ายเป็นยาที่ถูกแนะนำให้ใช้ตามแนวทางการดูแลรักษาโรคนี้ ได้แก่ amoxicillin, cephalexin, azithromycin, roxithromycin และ clindamycin คิดเป็นร้อยละ 65.02 ของจำนวนครั้งของรายการยาที่ถูกสั่งใช้ทั้งหมด การวิจัยนี้สรุปได้ว่า 1. McIsaac score เป็นเครื่องมือทำนายโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ GAS ที่ทำให้ได้ร้อยละของผู้ป่วยมีคะแนนถึงเกณฑ์การตัดสินการจ่ายยาปฏิชีวนะต่ำที่สุด และ 2. รูปแบบการจ่ายยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยโรคคอหอยอักเสบและทอนซิลอักเสบเฉียบพลันของสถานที่ทำการวิจัยยังไม่เหมาะสมมากนัก
ที่มา: Srikwan R, Poowaruttanawiwit P, Rattanamanee K, Rimpanit S. Evaluation of differential diagnosis of acute pharyngitis and tonsillitis by using a scoring tool to predict the risk of Group A Streptococci infection in a community hospital. TJPP.2021; article in press.