ศัลยแพทย์ผ่าตัดต่อลำไส้ผู้ป่วยแล้วเกิดแตกรั่วจนถึงแก่ความตาย : รายงานผู้ตายทางคดี 1 ราย

ศัลยแพทย์ผ่าตัดต่อลำไส้ผู้ป่วยแล้วเกิดแตกรั่วจนถึงแก่ความตาย : รายงานผู้ตายทางคดี 1 ราย

Death Caused By Disruption Of Bowel’s Anastomosis : A Case Report

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

            ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดผู้ป่วยโดยเฉพาะการผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าตัดในช่องท้อง ผ่าตัดในช่องอก ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ฯลฯ นั้นต้องให้ความสำคัญกับการผ่าตัดของตนอย่างมาก โดยเฉพาะการดูแลหลังผ่าตัด (post-operative care) และก่อนที่จะจำหน่ายผู้ป่วย (before discharging) จำต้องตรวจสภาพของผู้ป่วยอย่างละเอียดและแน่ใจเสียก่อนว่า ผู้ป่วยพ้นระยะอันตรายหรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นอย่างแน่แท้แล้ว เพราะหากไม่ได้ดำเนินการตรวจอย่างดีแล้วอาจเกิดสภาวะแทรกซ้อนจนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายในเวลาอันใกล้ภายหลังจากการถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล และอาจส่งผลกระทบต่อศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดนั้นได้

            ผู้ที่เสียชีวิตในเวลาอันใกล้ภายหลังจากที่ถูกจำหน่ายจากสถานพยาบาล (ไม่นานหลังจากออกจากโรงพยาบาล) โดยในขณะอยู่ในสถานพยาบาลนั้นได้รับการผ่าตัดใหญ่เพื่อการรักษา สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องถือเป็น “การตายผิดธรรมชาติประเภทหนึ่งด้วยได้” และด้วยเหตุที่เกิดหลังจากการผ่าตัดจึงสมควรยิ่งที่จะต้องนำศพเข้ามาตรวจต่อเพื่อ “หาสาเหตุแห่งการเสียชีวิต” สำหรับแพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพนับว่าหมดหน้าที่แล้ว เป็นการทำหน้าที่สมบูรณ์แล้วตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์และเกณฑ์ความรู้ฯ แต่แพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัดผู้ตายรายนี้ยังคงมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องทั้งทางอาญา แพ่ง และจริยธรรม

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย) (ตรวจศพวันที่ 17 กรกฎาคม 2556)

            ประวัติเริ่มแรกที่ผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล: ผู้ป่วยหญิงอายุ 60 ปี รูปร่างสันทัด ตัวยาวประมาณ 156 เซนติเมตร มีประวัติปวดท้อง แน่นท้อง หายใจไม่สะดวกตามปกติ ได้เรียก “รถพยาบาล” (Ambulance) ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อไปรับที่บ้านมาที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษา

            ประวัติ: (ประวัติที่ได้อย่างย่อ)

            - ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติผ่าตัดมาจากโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งด้วยเรื่องเนื้องอกที่บริเวณอุ้งเชิงกราน (ประวัติจากญาติ) ได้รับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 และอยู่ในโรงพยาบาลดังกล่าว เมื่อเย็นวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 โดยแพทย์ตรวจรักษาผู้ป่วยอนุญาตให้กลับไปพักต่อที่บ้านได้และนัดมารับการตรวจต่อเนื่องอย่างผู้ป่วยนอก

            - หลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้วผู้ป่วยก็ยังมีอาการเพลียและอ่อนแรง ดูสภาพค่อนข้างซีด ต่อมาพบว่าซึม พูดน้อยลง หน้าท้องตึงโป่งขึ้น อาการปรากฏมากขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 และต่อมาราว 02.20 น. ผู้ป่วยไม่รู้สติ ไม่หายใจ จึงได้เรียกรถพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนไปรับเพื่อมารักษาตัว ซึ่งเมื่อแพทย์จากรถพยาบาลไปถึงพบว่า ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ จึงรีบดำเนินการตามกระบวนการ “กู้ชีพ” และนำตัวผู้ป่วยมาที่สถานพยาบาลเอกชนนั้น

            - ผู้ป่วยมาถึงที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นเมื่อเวลา 02.50 น. ในสภาพที่ได้รับการดำเนินการกู้ชีพมาโดยตลอดในขณะที่อยู่บนรถกู้ชีพ และได้รับการกู้ชีพต่อเนื่องที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชนอย่างทันทีโดยทีมแพทย์

            - ผู้ป่วยได้รีบกระบวนการกู้ชีพจนถึงเวลา 03.45 น. จึงยุติการกู้ชีพ และประกาศให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายเมื่อเวลา 03.45 น. โดยแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุแห่งการตายเช่นเดียวกัน และเนื่องจากกรณีนี้เป็นการตายที่เข้าข่ายการสงสัยในสาเหตุที่ตาย จึงจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 1481

            มาตรา ๑๔๘ เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

          การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ

          (๑) ฆ่าตัวตาย

          (๒) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

          (๓) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย

          (๔) ตายโดยอุบัติเหตุ

          (๕) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

            ซึ่งกรณีผู้ตายรายนี้เข้าได้กับมาตรา 148(5) นั่นเอง

            การชันสูตรพลิกศพ: (ภาพที่ 1)

            ผู้ป่วยได้รับการชันสูตรพลิกศพ ณ โรงพยาบาลเอกชนที่ศพอยู่ร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนและแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ จากนั้นศพได้ถูกส่งต่อมายังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อการตรวจต่ออย่างละเอียด มีเอกสารนำส่งเพื่อการรับการตรวจต่อโดย “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” (ภาพที่ 2)

            เหตุผลที่จำต้องส่งตรวจต่อเนื่องจาก แพทย์ระบุในเอกสาร “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” ว่า “ยังมิได้ทราบสาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย” (ภาพที่ 3)

            ศพมาถึงที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. (เนื่องจากกระบวนการส่งศพจำต้องอาศัยมูลนิธิที่รับอาสาทำหน้าที่นี้นำศพจากโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวมายังภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช) แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ได้เริ่มทำการตรวจศพผู้ตายรายนี้เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 (วันเดียวกันกับที่เสียชีวิต) โดยสภาพที่ตรวจได้มีดังนี้

            สภาพศพภายนอก:

            - ศพหญิงอายุประมาณ 60 ปี รูปร่างผอมและซีดมาก ผิวค่อนข้างขาวเหลืองอย่างชาวเอเชีย

            - ผู้ตายมีผมสีค่อนสีน้ำตาล (ย้อม) ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร

            - อยู่ในชุดนอนหลวมยาว และมีผ้าซับสิ่งเปื้อนที่บริเวณเชิงกราน

            - สภาพศพซีดอย่างมาก เมื่อดูที่ปลายมือและเท้า โดยเฉพาะที่เยื่อบุตาทั้งสองข้าง

            - ศพแข็งตัวมาก (เต็มที่แล้ว) พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังเสียชีวิตที่หลังได้บาง ๆ (เนื่องจากสภาพศพที่ค่อนข้างซีดมาก)

            - ตรวจระดับความเข้มของเลือด (hematocrit) ได้ 16 เปอร์เซ็นต์ ฮีโมโกลบินได้ 15.1 เปอร์เซ็นต์

            - พบบาดแผลดังต่อไปนี้

            ก. บาดแผลผ่าตัดใหม่ยังมีการใช้ลวดเย็บแผลผ่าตัดที่หน้าท้องส่วนล่าง ตั้งแต่กลางหน้าท้องมาที่หัวหน่าว แผลยาวรวมประมาณ 30 เซนติเมตร

            ข. บาดแผลผ่าตัดเก่า (แผลเป็น) ที่หน้าอกด้านซ้ายยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ตัดเต้านมด้านซ้ายไม่ปรากฏเต้านมซ้ายให้เห็น

            - บาดแผลจากเข็ม (ให้สารน้ำ) ที่หลังมือสองข้าง

            - คอ รอบคอ ไม่พบบาดแผลหรือรอยกดรัดผิดปกติ

            - ไม่ได้กลิ่นฉุนผิดปกติที่บริเวณจมูก ปาก หู

            - หน้าท้องตึงสังเกตเห็นชัดเจนจากบริเวณท้องน้อย (แผลผ่าตัดเพื่อการรักษา) (distension of abdomen)

            - แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียด ไม่พบการหักหรืองอผิดรูปของแขนและขา

            - ไม่พบบาดแผลรุนแรงที่ศีรษะและตามร่างกาย

            สภาพศพภายใน:

            - หนังศีรษะและใต้ชั้นหนังศีรษะซีดอย่างชัดเจน

            - กะโหลกศีรษะปกติ ไม่แตกหรือร้าว

            - เนื้อสมองซีดอย่างมาก (ภาพที่ 4)

            - ไม่พบพยาธิสภาพของเนื้อสมองและเส้นเลือดในบริเวณฐานสมองอย่างชัดเจน เว้นแต่เกิดจากสภาพแห่งการสูงวัยที่มีเส้นเลือดดังกล่าวตีบบ้างบางส่วน

            - กระดูกสันหลัง กระดูกคอ และกระดูกซี่โครง อยู่ในเกณฑ์ปกติ

            - เปิดกระดูกอกและซี่โครงออก พบว่าสภาพเนื้อเยื่อของช่องอก (heart lung block) ค่อนข้างซีด

            - เนื้อปอดและหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติ

            - เมื่อเปิดหน้าท้องตามแนวแผลผ่าตัดและขยายส่วนต่อมาจนถึงหน้าอกพบว่ามีเลือดในช่องอกล้นออกมาอย่างชัดเจน (ภาพที่ 5)

            - สีของเลือดที่ออกไม่แดงสด แต่มีสีขุ่นหมอง เนื่องจากสภาพการปนเปื้อนจากการอักเสบในช่องท้อง

            - ตวงเลือดในช่องที่มีปนกันระหว่างน้ำเลือด (watery appearance) และเลือดที่เป็นก้อน (clotted blood) ไล่ตามตำแหน่งตั้งแต่ใต้กะบังลม ใต้ตับ ที่บริเวณขั้วปอด และอุ้งเชิงกราน (บริเวณที่มีการผ่าตัด) รวมปริมาตรเลือดที่ได้ 1,300 ลบ.ซม. (ภาพที่ 6) (รวมที่ค้างอยู่ตามซอกต่าง ๆ)

            - ตับมีสีซีด ขนาดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

            - ม้ามและไตอยู่ในเกณฑ์ปกติ

            - ลำไส้ส่วนต้นมีเยื่อเหลืองยึดทำให้ผิวลำไส้เริ่มมีสภาพติดกัน (adhesion band) กระจายทั่วไป (ภาพที่ 5)

            - พบสภาพเหลืองปนน้ำเลือด (ช้ำเลือดช้ำหนอง) ที่บริเวณอุ้งเชิงกราน และสีที่บริเวณอุ้งเชิงกรานมีสีคล้ำ
(น้ำตาลคล้ำเข้ม) และเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวค่อนข้างยุ่ย

            - ลำไส้บริเวณอุ้งเชิงกรานพบแผลผ่าตัดต่อ (colorectal anastomosis) ระหว่างลำไส้ใหญ่ (colon) กับลำไส้ใหญ่ส่วนปลายสุด (rectum) และพบว่าบริเวณแผลผ่าตัดมีการปริแตกเป็นแผลเปิดออกราว 0.3-0.4 เซนติเมตร และยังพบว่าเนื้อเยื่อบริเวณรอบรอยปริและตามแผลผ่าตัดค่อนข้างอ่อนและยุ่ย อีกทั้งยังพบมีส่วนของอุจจาระเหลืองไหลออกมาจากตำแหน่งที่ปริด้วย (ภาพที่ 7)

            - กระเพาะปัสสาวะและมดลูกถูกผ่าตัดออกไปแล้ว

            - กระดูกเชิงกรานอยู่ในเกณฑ์ปกติ

            - กระดูกแขนและขาอยู่ในเกณฑ์ปกติมิได้หักหรืองอผิดรูป

            สาเหตุที่ตาย:

            เลือดออกอย่างมากในช่องท้องร่วมกับสภาวะติดเชื้อในช่องท้องกระจาย เนื่องจากแผลผ่าตัดที่แตกปริมีอุจจาระไหลรั่วออกมาในอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง (ผลจากบาดแผลผ่าตัด)

วิเคราะห์และวิจารณ์

            ประการที่ 1: ผู้ตายสูงอายุ

            ผู้ตายรายนี้เป็นหญิงสูงวัย (อายุประมาณ 65 ปี รูปร่างสันทัด มีประวัติว่าเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้านซ้าย (ซึ่งได้รับการผ่าตัดเอานมทั้งข้างซ้ายออกไปแล้ว) บริเวณช่องอกรวมถึงปอดและหัวใจไม่พบพยาธิสภาพอย่างรุนแรงที่จะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

            ประการที่ 2: สาเหตุแห่งการเสียชีวิตในผู้ตายรายนี้

            สาเหตุแห่งการเสียชีวิตเนื่องจากการที่บาดแผลผ่าตัดที่อุ้งเชิงกรานจากการผ่าตัดต่อ (colorectal anastomosis) ระหว่างลำไส้ใหญ่ (colon) และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (rectum) แตกปริออกเป็นรอยประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร ทำให้อุจจาระในลำใส้ใหญ่ไหลรั่วออกมา เกิดภาวะติดเชื้อและเกิดการสลายของเนื้อเยื่อจนทำให้เส้นเลือดฉีกขาดและมีเลือดไหลออกมาอย่างมากและต่อเนื่องจนทำให้มีเลือดในช่องท้องและอุ้งเชิงกรานทั้งก้อนเลือด (ประมาณ 300 ลบ.ซม.) และเลือดรวมกันได้ทั้งหมดคิดเป็นปริมาตร 1,300 ลบ.ซม. แต่สีที่ค่อนข้างขุ่นน้ำตาลแดงเก่า ๆ (สภาพของเลือดปนกับหนอง) และเป็นสาเหตุแห่งการติดเชื้อในช่องท้องและติดเชื้อทั่วร่างกาย (กระแสโลหิต)

          ประการที่ 3: โรคแทรกซ้อนที่เกิดหลังผ่าตัด

            โรคแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด:

            ในการผ่าตัดรวมถึงการผ่าตัดที่อุ้งเชิงกราน (colorectal anastomosis) นี้อาจเกิดสภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ กล่าวคือ

            1. การเกิดรอยปริแตกของแผลที่ได้รับการผ่าตัดไว้ ทำให้มีเลือดไหลซึมออกตลอดเวลา ซึ่งอาจเริ่มด้วยการมีสภาวะการติดเชื้อก่อน

            2. แผลปริแตกที่เกิด ณ ตำแหน่งของการผ่าตัด ทำให้มีอุจจาระไหลซึมออกมาตลอดเวลา และเป็นเหตุให้ในช่องท้องเกิดการติดเชื้อกระจายทั่วไป (generalized peritonitis)

            หมายเหตุ:

            ไม่พบว่ามีการวางท่อระบาย (drain) จากช่องท้อง

            ประการที่ 4: ผลที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้ป่วย (การฟ้องร้อง)

            การฟ้องทางจริยธรรม คือ ความผิดตาม “ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549”2 ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25253 ซึ่งน่าจะฟ้องในหมวด 4 ข้อ 15

            ข้อ 15 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ ภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่

            ความหมาย: หมายถึง การที่แพทย์อาจถูกกล่าวหาว่าประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานทางการแพทย์ (ตามเกณฑ์หรือแนวทางแห่งศัลยศาสตร์)

Totobo kiralama

            หมายเหตุ:

            พึงระวังในเรื่อง “มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว4,5 สิ่งที่ตามมาก็คืออาจถูกฟ้องร้องในทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยได้

          การฟ้องทางอาญา คือ ความผิดฐาน “ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ตามมาตรา 291 แห่งประมวลกฎหมายอาญา6

            มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

            ความหมาย: หมายถึงการที่แพทย์อาจถูกกล่าวหาว่ากระทำการผ่าตัดโดยประมาท (ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานทางการแพทย์ประการหนึ่งประการใด) เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อ การรั่วไหลของอุจจาระ และมีเลือดออกในช่องท้องและอุ้งเชิงกรานจำนวนมาก

          การฟ้องทางแพ่ง คือ ความผิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์7

            มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

            ความหมาย: หมายถึงการที่แพทย์อาจถูกกล่าวหาว่า “กระทำละเมิด” ต่อผู้ป่วย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายและต้องชดใช้เป็น “ค่าสินไหมทดแทน”

            ประการที่ 5: โรคแทรกซ้อนและผลที่เกิดขึ้น

            โรคแทรกซ้อนในทางการแพทย์:

            ในการผ่าตัดและเกิดโรคแทรกซ้อนในที่นี้อาจถือได้ว่าเป็น “โรคแทรกซ้อนในทางการแพทย์” ที่อยู่ในเรื่อง “ข้อเท็จจริงทางการแพทย์”8ดังนี้

            “……………………….ฯลฯ

          ข้อ 3 ในกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์อาจเกิดสภาวะอันไม่พึงประสงค์ได้ แม้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย            ……………………….ฯลฯ

          ข้อ 9 การไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือบุคลากรทางการแพทย์ย่อมมีผลเสียต่อการรักษาและการพยากรณ์โรค”

            อย่างไรก็ตาม หากแพทย์มิได้ขาดการใช้ความระมัดระวังตามเกณฑ์แห่งมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ป่วยมิได้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย” ตามแนวทางแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์7

            มาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

สรุป

            ผู้ที่เสียชีวิตในเวลาอันใกล้ภายหลังจากที่ถูกจำหน่ายจากสถานพยาบาล (ไม่นานหลังจากออกจากโรงพยาบาล) โดยในขณะอยู่ในสถานพยาบาลนั้นได้รับการผ่าตัดใหญ่เพื่อการรักษา สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องถือเป็น “การตายผิดธรรมชาติประเภทหนึ่งด้วยได้” และด้วยเหตุที่เกิดหลังจากการผ่าตัดจึงสมควรยิ่งที่จะต้องนำศพเข้ามาตรวจต่อเพื่อ “หาสาเหตุแห่งการเสียชีวิต” สำหรับแพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพนับว่าหมดหน้าที่แล้ว เป็นการทำหน้าที่สมบูรณ์แล้วตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์และเกณฑ์ความรู้ฯ แต่แพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัดผู้ตายรายนี้ยังคงมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องทั้งทางอาญา แพ่ง และจริยธรรม

เอกสารอ้างอิง

  1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf
  2. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549. http://www.tmc.or.th/service_law02_17.php
  3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.
  4.  ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555 โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม 2555)”
  5. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม 2555.
  6. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf
  7. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB03/%BB03-20-9999-update.pdf
  8. ประกาศแพทยสภาที่ 46/2549 เรื่อง ข้อเท็จจริงทางการแพทย์. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมและข้อบังคับแพทยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552. โรงพิมพ์เรือนแก้ว: กรุงเทพมหานคร: 83.