สถาบันมาตรวิทยา–วชิรพยาบาล หารือยกระดับเครื่องมือและนวัตกรรมการแพทย์ เชื่อมาตรฐานที่พิสูจน์และยืนยันด้วยมาตรวิทยาช่วยลดต้นทุนแต่ได้ของดี
ผู้บริหารจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินทางส่งมอบ “เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส” ที่ผ่านการรับรองค่าความถูกต้องแม่นยำแล้ว แด่คณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล พร้อมหารือเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมต้นแบบ เตียงไฟฟ้าที่สามารถชั่งนำหนักผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของทีมงานเครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล สู่นวัตกรรมที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผลิตเองได้ ใช้งานได้จริง ด้วยต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงจนเกินไปโดยใช้หลักการด้านมาตรวิทยาเป็นเครื่องพิสูจน์และยืนยันความถูกต้องตั้งแต่ต้นทางซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับสู่สากล อีกทั้งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงจนเกินไปแต่ได้นวัตกรรมที่ดีมีคุณภาพและได้มาตรฐาน
นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ พร้อม นายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รองผู้อำนวยการ เดินทางเพื่อเข้าพบปะคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักราวุธ มณีฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรพยาบาล และนายยุทธนา อภิชาตบุตร รองผู้อำนวยการ เพื่อส่งมอบ “เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส” ที่ผ่านการสอบเทียบเครื่องมือ (Calibration) โดยนักมาตรวิทยาและได้รับการรับรอง (Certified) จาก มว. ตามโครงการ ให้บริการสอบเทียบ “เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส” แก่สถานพยาบาลและหน่วยบริการประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.nimt.or.th/main/?p=35114) ณ ตึกเพชรรัตน์ ชั้น 6 โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
ทั้ง 2 หน่วยงานยังได้มีการหารือเพื่อการพัฒนามาตรฐานเครื่องมือแพทย์และงานวิจัยเครื่องต้นแบบเตียงไฟฟ้าที่มีเครื่องชั่งน้ำหนักผู้ป่วย โดยได้นำเตียงผู้ป่วยธรรมดามาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นเตียงไฟฟ้าที่สามารถชั่งน้ำหนักได้โดยใช้หลักการทำงานด้วย Load Cell ซึ่งเป็นนวัตกรรม สำหรับช่วยผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง และผู้สูงอายุ ซึ่งการผลิตเครื่องต้นแบบดังกล่าว ทางรพ.ฯ จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีมาตรวิทยาในการช่วยพิสูจน์ค่าความถูกต้องแม่นยำ เพื่อที่จะทำให้เครื่องต้นแบบดังกล่าวได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในงบประมาณที่จับต้องได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างมาก
พร้อมกันนี้ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางที่จะส่งเสริมการตรวจสอบและพิสูจน์มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวัดอย่างเข้มข้นให้แก่บุคลากรด้านงานเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลเพื่อสร้างแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์สู่ Precision Medicine หรือการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือ ข้อมูลในระดับโมเลกุล มาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การเลือกรูปแบบการรักษา การเลือกใช้ยา รวมถึงการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือตรวจสอบวิเคราะห์ที่ให้ค่าความแม่นยำสูงจึงจะทำให้การวินิจฉัยมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นและส่งผลถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
beydağ escort