อาหารเสริมแคลเซียม ใช้อย่างไร
อ.ดร.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
แคลเซียม (Calcium) (1) เป็นแร่ธาตุและองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน จำเป็นต่อการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบประสาท หากร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมเพียงพอ แคลเซียมในกระดูกจะถูกดึงมาใช้แทน ส่งผลให้กระดูกเปราะบางและอ่อนแอลง เกิดเป็นโรคกระดูกพรุนได้ ดังนั้น การให้แคลเซียมเสริมจำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แม่ที่ต้องให้นมลูก เด็ก วัยรุ่น และหญิงใกล้หมดประจำเดือนเพื่อป้องกันการขาดแคลเซียม นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารในแต่ละวันไม่เพียงพอเป็นเวลานานหลายปีหรือเป็นโรคกระดูกพรุนและโรคกระดูกอื่น ๆ ก็สามารถรักษาได้ด้วยการให้รับประทานแคลเซียมเสริม
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน (2) ได้แก่
1. การสูบบุหรี่ เพราะแคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลระหว่างค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือด หากสูบบุหรี่ร่างกายจะมีภาวะเป็นกรด แคลเซียมจะเข้ามามีบทบาทในการสะเทินฤทธิ์กรดจากบุหรี่ ดังนั้น บุหรี่ทุก ๆ มวนจึงเป็นตัวที่ทำให้แคลเซียมละลายจากกระดูก
2. แอลกอฮอล์ จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลกระทบต่อตับในการกระตุ้นวิตามินดีที่มีบทบาทสำคัญในการดูดซึมแคลเซียมหย่อนสมรรถภาพ
3. เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมากเกินไป
4. น้ำอัดลม แม้จะมีรสชาติน่าดื่มแต่ทราบหรือไม่ว่าส่วนผสมที่ชื่อ "กรดฟอสฟอริก" เพื่อให้เกิดฟองฟู่ในเครื่องดื่มประเภทนี้เกิดจากการผสมระหว่าง กรดฟอสฟอรัสและกำมะถัน (โดยปกติแคลเซียมในร่างกายจะต้องทำงานร่วมกับเกลือแร่อื่นโดยเฉพาะฟอสฟอรัส ในภาวะปกติร่างกายจะต้องพยายามรักษาสัดส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัส 2:1 หากฟอสฟอรัสมากเกินไป ร่างกายก็จำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกจากคลังกระดูกมาทำสะเทินฟอสฟอรัสในเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้ฟอสฟอรัสสูงเกินไปจนส่งผลอันตรายต่อชีวิต) นอกจากนี้ยังพบฟอสฟอรัสมากในเนื้อสัตว์ นม และเนย
5. เกลือ ต้องบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม หากมากเกินไปจะทำให้แคลเซียมสลายตัว
6. ยาเคลือบกระเพาะ โดยทั่วไปยาชนิดนี้มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม ซึ่งเร่งให้ร่างกายขับแคลเซียม ดังนั้น หากจำเป็นต้องรับประทานเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
7. ไม่ออกกำลังกาย ท่านคงทราบถึงข้อดีของการออกกำลังกาย แต่ทราบหรือไม่ว่า หากออกกำลังกายที่มีแรงโน้มถ่วงของโลกมามีส่วนด้วย เช่น วิ่งอย่างสม่ำเสมอจะส่งผลให้มวลของกระดูกเพิ่มปริมาณขึ้นได้
8. ขาดวิตามินดีจากแสงอาทิตย์ วิตามินดีช่วยนการดูดซึมของแคลเซียมจากทางเดินอาหาร กระดูกจึงไม่พรุนก่อนวัยอันควร
9. รับประทานโปรตีนมากเกินไป หากร่างกายได้รับโปรตีนมากเกินไปก็จำเป็นต้องขับออกโดยสลายกรดอะมิโนในตับให้กลายเป็นสารยูเรียแล้วออกมาพร้อมปัสสาวะ และการขับยูเรียทางปัสสาวะร่างกายต้องสูญเสียเกลือแร่ไปมาก (รวมทั้งแคลเซียมด้วย) จึงเป็นอีกสาเหตุที่กระดูกพรุนได้
แคลเซียมสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ (3) คือ
1. แคลเซียมอนินทรีย์ ได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมคลอไรด์
2. แคลเซียมอินทรีย์ ได้แก่ แคลเซียมซิเตรต แคลเซียมฟอสเฟต แคลเซียมแล็กเตต แคลเซียมคีเลต ไบโอแคลเซียม แคลเซียมแอล-ทรีโอเนต ซึ่งปริมาณแคลเซียมและการดูดซึมของแคลเซียมต่างรูปแบบนั้นแตกต่างกัน
ปริมาณแคลเซียมในรูปแบบต่าง ๆ (4)
แคลเซียมที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจะมีหลายรูปแบบทั้งแบบที่เป็นเม็ดฟู่ ชนิดเม็ด และชนิดแคปซูล โดยอยู่ในรูปของเกลือของแคลเซียมชนิดต่าง ๆ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate), แคลเซียมซิเตรต (calcium citrate), ไตรแคลเซียมฟอสเฟต (tricalcium phosphate), แคลเซียมกลูโคเนต (calcium gluconate) และแคลเซียมแล็กเตต (calcium lactate) เป็นต้น เกลือของแคลเซียมแต่ละชนิดจะให้ปริมาณแคลเซียมแตกต่างกัน ดังนี้
ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นหมายถึง ถ้ารับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต 500 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด ร่างกายของเราจะได้รับแคลเซียมเป็นจำนวน 200 มิลลิกรัม (หรือร้อยละ 40 ของ 500 มิลลิกรัม) แต่ถ้ารับประทานแคลเซียมกลูโคเนต 500 มิลลิกรัม ร่างกายของเราจะได้รับแคลเซียมเพียง 4.5 มิลลิกรัม (หรือร้อยละ 9 ของ 500 มิลลิกรัม) เป็นต้น ดังนั้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แคลเซียมจึงควรคำนึงถึงเกลือของแคลเซียมว่าเป็นเกลือชนิดใดด้วย เพราะเกลือของแคลเซียมแต่ละชนิดให้แคลเซียมในปริมาณที่แตกต่างกัน
ผลิตภัณฑ์แคลเซียมในรูปแบบต่าง ๆ (3)
รูปแบบของแคลเซียมที่นำมาเป็นส่วนผสมในอาหารเสริมที่พบได้บ่อย ๆ ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และการดูดซึมของแคลเซียมชนิดต่าง ๆ ได้แก่
• แคลเซียมคาร์บอเนต ถูกนำมาใช้มากที่สุดเนื่องจากมีราคาถูก คุณสมบัติไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้โดยอาศัยกรดในกระเพาะ มีความสามารถในการดูดซึมได้พอ ๆ กับแคลเซียมจากน้ำนม หากรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต 1,000 มิลลิกรัม จะมีปริมาณแคลเซียม 40% คือ 400 มิลลิกรัมแต่ดูดซึมได้น้อยเพียง 15% ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียม 60 มิลลิกรัมซึ่งยังไม่พอแก่ความต้องการของร่างกาย (ที่ 70-90มิลลิกรัม) แคลเซียมคาร์บอเนตเป็นรูปที่นิยมใช้กันมากในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
• แคลเซียมซิเตรต มีปริมาณแคลเซียม 21% คือ 210 มิลลิกรัม และดูดซึมได้น้อยเพียง 15% ดังนั้น ต้องรับประทานแคลเซียมซิเตรต 3,000 มิลลิกรัม จึงจะเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน
• แคลเซียมแล็กเตต มีปริมาณแคลเซียมเพียง 13% เป็นรูปแบบสังเคราะห์ซึ่งดูดซึมดี การใช้แคลเซียมแล็กเตตบำรุงร่างกายจะทำให้แล็กเตตที่สามารถทำให้ร่างกายอ่อนเพลียเข้าสู่ร่างกายไปด้วย ฉะนั้นจึงไม่เหมาะใช้รับประทานในระยะยาว และแคลเซียมแล็กเตตและแคลเซียมกลูโคเนตอยู่ในรูปที่ทำให้เข้มข้นยาก จึงไม่เหมาะที่จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
• แคลเซียมกลูโคเนต มีปริมาณแคลเซียมค่อนข้างต่ำ (8.9%) ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ปัจจุบันทางคลินิกมักนำเอาแคลเซียมกลูโคเนตมาเป็น intravenous fluids ยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำเพื่อใช้บำรุงแคลเซียมในภาวะฉุกเฉิน
• แคลเซียมอะมิโน แอซิต คีเลต เป็นคีเลตของแคลเซียมกับกรดอะมิโนซึ่งละลายน้ำได้ดี ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ 80-90% ขึ้นไป ไม่ต้องอาศัยวิตามินดีเพื่อดูดซึม ไม่ตกค้างในร่างกายให้เกิดนิ่วหรือสิ่งไม่พึงประสงค์ ส่วนที่เหลือเพียง 10-20% จะถูกขับออกทางเหงื่อ ปัสสาวะ ซึ่งคนเป็นโรคไตรับประทานได้
• แคลเซียมแอล-ทรีโอเนต ซึ่งสกัดมาจากข้าวโพด สามารถดูดซึมได้ 90-95% จึงทำให้การรับประทานแคลเซียมแอล-ทรีโอเนต 750 มิลลิกรัมก็เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายใน 1 วันคือดูดซึมได้ถึง 90 มิลลิกรัม (ความต้องการ 70-90 มิลลิกรัม) ทำงานในรูปแบบของ passive transport หรือที่เรียกว่าซึมผ่านระหว่างเซลล์โดยไม่ต้องผ่านการใช้วิตามินดีแบบแคลเซียมประเภทอื่น เป็นแคลเซียมจากพืช มีการวิจัยซึ่งค้นพบว่านอกจากจะบำรุงกระดูกแล้วยังสามารถเสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรงดีขึ้น ยังมีส่วนในการเสริมสร้างคอลลาเจนและเนื่องจากดูดซึมดีจึงไม่ตกค้างให้เกิดนิ่วและไม่ทำให้ท้องผูกด้วย อีกทั้งกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในกระดูกและกระดูกอ่อน รวมทั้งสร้างน้ำไขข้อไปพร้อมกันด้วย เสริมสร้างกระดูกและข้อให้แข็งแรง
• แคลเซียมจากปะการัง ปะการังเป็นแหล่งแคลเซียมจากธรรมชาติที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ประกอบไปด้วย แร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย เช่น แมกนีเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ฯลฯ มีส่วนช่วยรักษาภาวะสมดุลให้ร่างกายเรา โดยทั่วไปแคลเซียมจากปะการังจะได้จากการผุกร่อนของปะการัง (ปะการังที่ตายแล้ว) นำมาแยกเกลือออก แล้วนำไปเผาเพื่อแยกสารอินทรีย์ที่ไม่จำเป็นออก จากนั้นจึงบดละเอียดเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ง่ายขึ้น
ปัจจัยส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียม (5)
• วิตามินดีเป็นตัวเร่งให้มีการสังเคราะห์โปรตีนในชั้นเยื่อมูกของผนังลำไส้ ซึ่งแคลเซียมจะเกาะติดและถูกลำเลียงผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสโลหิต ดังนั้น เมื่อมีวิตามินดี การดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เกิดได้ดีกว่า วิตามินดีได้จาก 2 แหล่ง คือ จากแสงแดดและอาหารจำพวกปลา ไข่แดง ตับ เนย เป็นต้น
• ความเป็นกรดอ่อน ๆ ในอาหาร แคลเซียมจะละลายได้ง่ายในอาหารที่เป็นกรดอ่อน ๆ • แลคโตสช่วยในการดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น 15-50% ดังนั้น นมสดจึงเหมาะที่จะเป็นอาหารสำหรับแหล่งแคลเซียม
ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์แคลเซียม (4)
1. การใช้แคลเซียมควรให้รับประทานหลังอาหารทันที เพราะความเป็นกรดจะช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมให้ดียิ่งขึ้น ยกเว้นแคลเซียมซิเตรตที่ดูดซึมได้ดีในทุกสภาวะ
2. การให้แคลเซียมแต่ละครั้งไม่ควรให้ผลิตภัณฑ์ที่มีธาตุแคลเซียมมากกว่า 500 มิลลิกรัม เพราะปริมาณนี้เป็นปริมาณที่แคลเซียมถูกดูดซึมได้ดีที่สุด ถ้ามีปริมาณมากกว่านี้ควรแยกเป็น 2-3 มื้อของอาหาร จะถูกดูดซึมได้ดีกว่า
3. แคลเซียมอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารและทำให้ท้องผูกได้ จึงควรรับประทานพร้อมผักและผลไม้ที่มีกากใย พร้อมทั้งดื่มน้ำตามมาก ๆ
4. ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแคลเซียมร่วมกับยากลุ่มเตตราไซคลิน หรือธาตุเหล็ก เพราะแคลเซียมจะไปรบกวนการดูดซึมยาทั้ง 2 ชนิดนี้ และแก้ไขด้วยการรับประทานแคลเซียมห่างจากยาทั้ง 2 ชนิดนี้ประมาณ 2 ชั่วโมง
เอกสารอ้างอิง