กัญชาทางการแพทย์

กัญชาทางการแพทย์
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

          กัญชาเป็นพืชที่มีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และใช้เป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่ยุคโบราณหลายพันปีมาแล้วก่อนการเกิดศาสนา ซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อว่ามนุษย์ในสมัยนั้นใช้กัญชาเพื่อเหตุผลทางจิตวิญญาณ จากการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์อายุราว 10,000 ปี สันนิษฐานว่ามนุษย์ในยุคนั้นใช้กัญชาเผาไฟที่ด้านในสุดของถ้ำ เพื่อสูดดมควันจากการเผาไหม้ของกัญชา นอกจากนั้นยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ว่ามีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ทั้งจากประเทศอังกฤษที่มีหนังสือกล่าวถึงการใช้กัญชาในการรักษาโรคซึมเศร้า รักษาอาการปวดประจำเดือน

          ในปี พ.ศ. 2517 มีรายงานจากรัฐเวอร์จีเนีย สหรัฐอเมริกา ว่าในกัญชาที่มีการแปรรูปแบบความเข้มข้นสูงจะโจมตีเซลล์มะเร็งในร่างกายและยังคงรักษาเซลล์ที่ดีไว้ โดยทีมวิจัยสรุปว่ามันอาจเป็นการรักษาที่ถูกต้องสำหรับมะเร็ง เพราะมันทำงานได้อย่างรวดเร็วและทำงานได้เป็นอย่างดี

กัญชาและการถูกควบคุมโดยกฎหมาย

          ในปี พ.ศ. 2481 สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายห้ามการใช้กัญชาทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่การใช้เส้นใยในอุตสาหกรรม แม้จะมีเสียงคัดค้านจาก Dr.William C. Woodward ผู้แทนจาก The American Medical Association ที่ได้คัดค้านในสภาว่าไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ากัญชาคือยาเสพติดที่อันตราย และที่มากกว่านั้นการออกกฎหมายในลักษณะนี้จะเป็นการทำให้สูญเสียผลประโยชน์ในด้านการแพทย์ในการสืบค้นยารักษาโรคจากกัญชาที่อาจเป็นไปได้ในอนาคต แต่ก็ไม่ยอมรับฟัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 กัญชาถูกลบออกจากตำรับยาทั้งหมด และมีการเพิ่มความรุนแรงในการลงโทษกรณีมียาเสพติด

          ในปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) สหประชาชาติลงนามในความสัญญาร่วมเพื่อปราบยาเสพติดให้หมดไปจากโลกนี้ ส่งผลให้กัญชากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นของต้องห้าม ไม่ใช่สมุนไพร หรือการใช้เพื่อความบันเทิงใด ๆ

          พ.ศ. 2514 สหรัฐอเมริกามีการแบ่งบัญชียาเสพติดตามความรุนแรง และกัญชาถูกจัดอยู่ในบัญชีที่ 1 คือยาเสพติดที่รุนแรงที่สุด โดยไม่มีคุณสมบัติทางยาใด ๆ

          ในประเทศไทยดูเหมือนมีการนำกัญชาเข้ามาจากประเทศอินเดีย โดยอ้างหลักฐานจากชื่อซึ่งคล้ายกับคำว่า gunja ในภาษาฮินดี เดิมกัญชาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นส่วนประกอบของอาหาร เครื่องเทศ ยา และเส้นใย และนับเป็นสมุนไพรพื้นบ้านมาหลายศตวรรษ 

          ประเทศไทยมีประวัติการใช้กัญชาในตำรับยารักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ มายาวนาน ตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2175-2231 ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) แต่ต้องหยุดใช้ไปเนื่องจากความเข้าใจผิดของคนทั่วโลกที่กำหนดว่ากัญชาเป็นสิ่งเสพติด ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ปี ค.ศ. 1961 (Single Convention on Narcotic Drugs) 

          ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 และมีการแก้ไขฉบับสุดท้ายคือ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ซึ่งยังคงบัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป

            แต่ความรู้ใหม่จากผลการศึกษาวิจัยในปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นว่ากัญชามีส่วนประกอบของสารที่ร่างกายมนุษย์เราสามารถสังเคราะห์ได้เองตามธรรมชาติ (endocannabinoid) ซึ่งร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมหรือส่งเสริมให้อวัยวะภายในร่างกายสามารถทำงานให้เกิดความสมดุลแก่ชีวิต และได้พบว่าเมื่อร่างกายขาดแคลนสารเหล่านี้อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพหรือความเจ็บป่วยบางอย่างในร่างกาย การให้กัญชาในผู้ป่วยเหล่านี้จึงมีประโยชน์ต่อการช่วยให้ร่างกายของคนเราสามารถฟื้นจากความเจ็บป่วย และกลับคืนสู่ความปกติได้ดังเดิม

          แต่เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายได้มองข้ามประโยชน์ของกัญชาในการดูแลรักษาสุขภาพมานานแล้ว นับว่าถูกปิดกั้นการเข้าถึงกัญชาในการนำมาใช้ประโยชน์ ได้แต่เพ่งโทษของกัญชา เมื่อหวนกลับมามองถึงด้านดีมีประโยชน์ของกัญชาจึงทำให้สังคมเกิดความสับสน กังขา ลังเล ไม่แน่ใจ ในการที่จะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติว่าจะคุ้มค่ากับการนำไปใช้ให้เกิดโทษแก่ร่างกาย เช่น การเสพติด และผลพวงจากการเสพติดมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากกัญชาหรือไม่

          ก่อนที่กัญชาจะถูกห้ามใช้ ในปี พ.ศ. 2477 ทราบกันว่าผู้ใช้แรงงานใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ และยังมีรายงานว่าใช้เพื่อบรรเทาการเจ็บครรภ์ของหญิงได้ และชาวบ้านทั่วไปก็รับทราบว่ามีการใช้กัญชาในการประกอบอาหาร ให้สูบเพื่อสันทนาการ ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายที่จัดให้กัญชาเป็นพืชต้องห้าม ไม่ใช่สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรค หรือใช้ในการใด ๆ ทั้งสิ้น

          โดยประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. 2477 ซึ่งห้ามผู้ใดปลูก นำเข้า ซื้อขาย หรือครอบครองกัญชาโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษทั้งจำและปรับอย่างรุนแรง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลไทยก็ได้ออกพระราชบัญญัติยาเสพติด โดยกัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งมีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครอง และไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์แต่อย่างใด

          แต่กระแสการตื่นตัวจากการใช้เส้นใยกัญชง (Hemp) ในช่วงปี พ.ศ. 2540 และมีพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชง และจากความพยายามของหลายภาคส่วนที่เห็นถึงประโยชน์ของการใช้เส้นใยกัญชง และสารสกัดที่ได้จากช่อดอกของกัญชง (CBD oil) จึงได้มีการประกาศกฎกระทรวง การขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะเฮมพ์ (กัญชง) พ.ศ. 2559

          ต่อมามีกระแสตื่นตัวในการใช้น้ำมันสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น จนทำให้รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยมีสาระสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถใช้ยาเสพติดประเภทที่ 5 ในทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้ภายใต้การควบคุมที่เคร่งครัดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

          การประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดฉบับนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นหรือข้อบ่งชี้ในการที่จะต้องใช้ยาหรือสารสกัดจากกัญชา และเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยที่จะสามารถนำกัญชามาปลูก พัฒนาสายพันธุ์ให้มีความเหมาะสม เพื่อนำมาพัฒนาตำรับยาให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลในทางการแพทย์ ทั้งในตำรับยาแผนไทยและแผนปัจจุบันต่อไป และเพื่อส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจของไทยต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การทำผลิตภัณฑ์ทางยาและอาหารเสริม และอื่น ๆ

          แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น มิให้มีการนำไปใช้ในทางสันทนาการหรือการเสพติด จึงจะต้องมีการควบคุมกำกับอย่างเคร่งครัดเพื่อให้มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยาและผลิตภัณฑ์ที่จะมาใช้ในทางการแพทย์ ตั้งแต่การปลูก การนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางยา การวิจัยทางคลินิก เพื่อต่อยอดความรู้ให้ผู้นำไปใช้ในทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการรักษาโรคได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และมีความปลอดภัยต่อผู้นำไปใช้ในทางการแพทย์ต่อไป

          ทั้งนี้มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขเสนอให้รัฐมนตรีลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อก “ใบกัญชา-กัญชง” พ้นบัญชียาเสพติด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยไม่ถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 แต่ต้องเป็นใบที่ไม่มีช่อดอกติดอยู่ และมาจากต้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย

          สำหรับการปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ทำได้ตามประกาศกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดไว้ว่า ประชาชนจะขออนุญาตปลูกกัญชาได้ต้องรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชา และแนวทางในการปลูกกัญชา(2) โดยประชาชนแต่ละคนไม่สามารถปลูกกัญชาไว้ประดับบ้านละ 6 ต้น ตามที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งได้เคยหาเสียงไว้

การใช้ยาตามตำรับยาการแพทย์แผนไทย

          สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เผยแพร่ข้อมูลตำรับยาในทางการแพทย์แผนไทย 16 ตำรับ ตัวอย่างเช่น

1. ตำรับยาศุขไสยาสน์ มีที่มาจากคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ทั้งนี้พระนารายณ์มหาราชเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ข้อบ่งใช้ ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร ฟื้นฟูกำลังผู้ป่วยเรื้อรัง
ข้อห้ามใช้ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่ไข้สูง

2. ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ มีที่มาจากตำรายาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ข้อบ่งใช้ แก้กษัยเหล็ก ลดอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งตับในระยะเริ่มต้น
ข้อห้ามใช้ ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้ายที่มีภาวะเส้นเลือดแตกเป็นใยแมงมุม ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีตับวาย ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด

          และยังมียาตามตำรับการแพทย์แผนไทยอีก 14 ตำรับที่กรมแพทย์แผนไทยได้รับรองตามตำรับเดิมของคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ตำรายาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. 128 ตำรับยาอายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ ตำรับยาเวชศาสตร์วัณ์ณณา ตำรับยาคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์)         

เภสัชวิทยาคลินิกของกัญชาทางการแพทย์ (Clinical pharmacology of medical cannabis)

          กัญชาประกอบด้วยสารอย่างต่ำ 60 ชนิด ส่วนสำคัญที่รู้จักกันดีก็คือ cannabinoids ซึ่งเป็น active component ของกัญชา ได้แก่ delta-9 tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เกิดการเสพติด

          ส่วนสารอีกประเภทหนึ่งคือ cannabidiol (CBD) นั้นไม่ทำให้เสพติด และมีรายงานการศึกษาว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ปกป้องการเสื่อมของเซลล์ประสาท และต้านการชัก

          การศึกษาในห้องปฏิบัติการและการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพกับสัตว์ทดลองพบว่า THC และ CBD แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งช่องปาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก  (Sledzinski, 2018) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory Hasenoehr, 2017) และฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (Appendino, 2008)

การใช้ประโยชน์ทางยาของกัญชา

          Nabizmols หรือชื่อทางการค้าว่า Sativex คือสารสกัดของ THC และ CBD ในอัตราส่วน 1:1 ใช้รักษาอาการปวดของเส้นประสาท (neuropathic pain), ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity), ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder; OAB), รักษาอาการอาเจียน (antiemetic effect) และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis; MS) (Deiana, 2018)

          มีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในหลายประเทศ และหลายรูปแบบ ได้แก่ การสูบ การใช้สารสกัดกัญชาหยอดใต้ลิ้น การรักษาโรคทางผิวหนังก็ใช้การทา ในการรักษาริดสีดวงหรือมะเร็งปากมดลูกก็ใช้การเหน็บทางทวารหรือช่องคลอด

เทคนิคในการสกัดและวิเคราะห์สารสำคัญในกัญชาเพื่อการแพทย์

          ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้รับรองการรักษาผู้ป่วยโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่พิสูจน์แล้วว่าอาการหรือโรคที่รักษาแล้วได้ผลดีคือ

          1. Nausea and vomiting from chemotherapy อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด

          2. Epilepsy ลมชักรักษายาก

          3. Multiple sclerosis อาการเกร็งจากปลอกหุ้มประสาทอักเสบ

          4. Neuropathic painปวดระบบประสาท

          ส่วนการรักษาที่น่าจะได้ประโยชน์ คือ

1.พาร์กินสัน (Parkinson)

2.อัลไซเมอร์ (Alzheimer)

3.ปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis)

4.โรควิตกกังวล (Anxiety disorder)

5.มะเร็งระยะสุดท้าย (Cancer, end stage)

6.โรคอื่น ๆ ระยะสุดท้าย (Severe diseases, end stage)

          ส่วนการรักษาที่ต้องการการวิจัยเพิ่มคือ โรคมะเร็ง

          ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์แผนไทยได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)150 แห่งปลูกกัญชาทางการแพทย์ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ปลูกกัญชาตำบลละ 50 ต้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ในแต่ละชุมชน

          ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกกำหนดมาตรฐานกัญชาในระดับอุตสาหกรรม โดยมาตรฐาน ISO 17025 และมาตรฐาน Thai Pharmacopoeia ในสารสกัดมาตรฐาน 5 ชนิด ได้แก่

1. Isolate CBD powder 99%

2. CBD 100 mg/ml

3. THC 10 mg/ml

4. THC 17 mg/ml

5. THC 27 mg/ml

          เพื่อนำไปผลิตยา ตำรับยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เวชสำอาง ต่อไป

          สรุป การใช้กัญชาในทางการแพทย์ของไทยยังมีช่องทางที่จะพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก เพื่อจะได้มีการวิเคราะห์/วิจัยเพิ่มเติมในสารอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกัญชา และการสกัดสารที่มีสรรพคุณทางยาเพื่อนำไปวิจัยในการนำไปใช้เพื่อผลการรักษาในทางการแพทย์ หรือที่มีผลต่อสรีรวิทยา หรือการรักษาโรคหรือสภาวะต่าง ๆของร่างกาย เพื่อขยายความครอบคลุมและสรรพคุณในการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้มากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการรักษาโรคที่ยังไม่มีผลการวิจัยมายืนยันการรักษา เพราะยังสามารถทำการศึกษาวิจัยในการสกัดสารสำคัญต่าง ๆ อีกหลายชนิดของกัญชาว่าจะมีผลต่อการรักษาโรคอะไรได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น และอาจนำมาใช้แทนยาทางเคมีในปัจจุบันได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการสั่งยาจากต่างประเทศ และอาจลดภาระค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ได้ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล บรรณาธิการ สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย. กันยายน 2562: Cannabis Drugs for Patient Treatments การใช้ยากัญชารักษาผู้ป่วยแผนปัจจุบันและแผนไทย
  2. https://cannabis.fda.moph.go.th/form/form-farm/