5 นิสิต นักศึกษาแพทย์ ศิริราช-จุฬาฯ-รามาฯ รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน โดยในปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556 ทั้งสิ้น 23 ราย จาก 10 สถาบัน และมีผู้ผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ จำนวน 5 ราย ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัย ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชนในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย
ศ.คลินิก นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศ.นพ.สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556 จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, น.ส.เพราพะงา อุดมภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, นายภควัต จงสถิตเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายวีรประภาส กิตติพิบูลย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายศุภวิชญ์ เจษฎาชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นายเจนวิทย์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจด้านการประยุกต์ใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการชะลอและการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปัจจุบันพบได้มากถึง 17% ของประชากร และมีแนวโน้มที่ต้องการการบำบัดทดแทนไตมากขึ้น ทั้งนี้การรักษาในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการรักษาประคับประคองด้วยการฟอกไตทางช่องท้องหรือทางหลอดเลือด แม้ว่าผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากระบบสาธารณสุข แต่การรักษาดังกล่าวยังมีค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาวและไม่มีความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ส่วนการรักษาที่ทำให้หายขาดคือ การปลูกถ่ายไตนั้นยังคงประสบปัญหาการรับบริจาคอวัยวะที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก การศึกษาวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดจึงเป็นแนวทางใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจ และอาจเป็นทางเลือกในการรักษาโรคไตในอนาคต
น.ส.เพราพะงา อุดมภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
น.ส.เพราพะงา เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยด้านโครงการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประชากรไทย เพื่อก้าวสู่ยุคปลอดไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทย ความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความจริงที่ว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นเหมือนภัยเงียบ ระยะแรกของการติดเชื้อไม่มีอาการ แม้แต่ผู้ป่วยจะเป็นตับแข็งแล้วก็ตาม กว่าจะมีอาการก็ต้องเสียหน้าที่มากแล้ว อาการจึงมักพบในระยะท้าย ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันนี้มียารักษาซึ่งสามารถควบคุมอาการของโรคได้อย่างดีมาก สามารถคุมโรคให้สงบและลดโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งตับหรือตับแข็งได้อย่างชัดเจน แม้จะไม่หายขาด ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องกินยาตลอดเพื่อป้องกันการดื้อยา คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงยาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ยังมีผู้ป่วยเพียงบางกลุ่มที่ตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจติดตามและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งปัญหาที่สำคัญที่สุดทั่วโลกคือ ปัญหาเรื่องความตระหนักรู้หรือ awareness ที่ทั่วโลกมีเพียง 41% โดยในประเทศไทยยังไม่มีการทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยจะได้รับยาเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนมีความตระหนักรู้ หรือ awareness นั่นเอง
นายภควัต จงสถิตเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายภควัต เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยในการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับอณูพันธุศาสตร์เพื่อการรักษาโรคมะเร็งสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งสมองชนิด Glioblastoma ความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความจริงที่ว่ามะเร็งสมองชนิดดังกล่าวพบมากที่สุดในบรรดามะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์ในระบบประสาทด้วยกัน นอกจากนี้ยังเป็นชนิดที่มีการดำเนินโรครวดเร็วและรุนแรงที่สุด พยากรณ์โรคเลวร้ายที่สุด และมีอัตราการตายสูงที่สุดอีกด้วย ที่สำคัญผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดนี้เกือบทั้งหมดจะพิการ โดยจะมีอาการชัก อ่อนแรง อัมพาต เดินไม่ได้ หรือส่งผลกระทบให้ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนแปลงไป เรียกได้ว่าผู้ป่วยจะสูญเสียคุณภาพชีวิตทั้งหมดก่อนที่วาระสุดท้ายจะมาถึงด้วยซ้ำ ภควัตมีความฝันที่อยากจะเป็นประสาทศัลยแพทย์ผู้มีส่วนทำให้มะเร็งสมองชนิดนี้เป็นโรคที่ไม่น่ากลัว เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วก็ไม่เสมือนเป็นการนับถอยหลังสู่ความตายอีกต่อไป จึงสนใจที่จะทำการศึกษาวิจัยเพื่อค้นให้พบกลไกที่อยู่เบื้องหลังการแพร่กระจายที่รวดเร็วของโรคมะเร็ง ด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางการรักษาใหม่ ๆ ในอนาคต
นายวีรประภาส กิตติพิบูลย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายวีรประภาส เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจทำโครงการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาระบบโครงการบริหารจัดการภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างครบวงจรในประเทศไทย เนื่องจากแนวทางการดูแลรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวในอดีตนั้นมีข้อบกพร่องสำคัญคือ ไม่ได้เน้นถึงการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยทั้งในการติดตามอาการและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์การรักษา จึงมีการริเริ่มพัฒนาระบบให้การดูแลรักษาที่เรียกว่า “โครงการบริหารจัดการภาวะหัวใจล้มเหลว” ซึ่งเป็นรูปแบบการดูแลรักษาที่เน้นการทำงานของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ เช่น พยาบาล เภสัชกร เพื่อให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพร่วมกับส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วย ซึ่งโครงการนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยนั้น การดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการศึกษารูปแบบของโครงการบริหารจัดการภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างครบวงจรในต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนารูปแบบโครงการในประเทศไทย อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว และลดการสูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะยาว
นายศุภวิชญ์ เจษฎาชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นายศุภวิชญ์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างระดับของวิตามินดีในเลือดกับผลการรักษาวัณโรค ความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยความตระหนักว่า วัณโรคยังคงเป็นโรคติดเชื้อที่ก่อปัญหาและส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขของไทยและหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่ประสิทธิภาพของสูตรการรักษาในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงมีการค้นคว้าเพื่อหาแนวทางการรักษาใหม่ โดยหลายการศึกษาพบว่า วิตามินดีมีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในการควบคุมการติดเชื้อวัณโรค แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงระดับของวิตามินดีที่เหมาะสมที่สามารถกระตุ้นหรือส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีความสามารถในการต่อต้านเชื้อวัณโรค ศุภวิชญ์จึงมีความสนใจที่จะทำการศึกษาเพื่อตอบคำถามดังกล่าว และเกิดความคิดริเริ่มในการนำวิตามินดีมาใช้ร่วมกับสูตรยาต้านวัณโรคที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่ชุมชน โดยมุ่งหวังเพื่อลดความสูญเสียจากวัณโรคทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ