‘ไฟโบรสแกน’ นวัตกรรมใหม่ ตรวจตับแข็ง
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ร.พ.พญาไท 2
ปัจจุบันสถานการณ์ “มะเร็ง” ในไทยพบว่า มะเร็งที่พบในเพศชายมากอันดับ 1 คือ มะเร็งตับ อันดับ 2 มะเร็งปอด และอันดับ 3 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อันดับ 4 มะเร็งต่อมลูกหมาก และอันดับ 5 มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนมะเร็งที่พบมากในเพศหญิงอันดับ 1 คือ มะเร็งเต้านม อันดับ 2 มะเร็งปากมดลูก อันดับ 3 มะเร็งตับ อันดับ 4 มะเร็งปอด และอันดับ 5 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ถึงแม้ตัวเลขมะเร็งเต้านมจะสูงขึ้น แต่การรักษาก็ดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตประมาณ 35% เท่านั้น เมื่อเทียบกับมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับที่มีอัตราการเสียชีวิตเกือบ 90% มะเร็งปอดมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 70-80% แสดงให้เห็นว่ามะเร็งที่รุนแรงจะรักษายาก ดังนั้น มะเร็งที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและตับมากขึ้น ทางโรงพยาบาลพญาไท 2 จึงได้เปิดศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับแบบครบวงจรขึ้น โดยมุ่งเน้นบริการทางการแพทย์ที่ครบเครื่อง ทั้งแพทย์เฉพาะทางแบบ Sub-Specialist ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ล่าสุด อาทิ เครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan), เครื่องส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy), เครื่องส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy), การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (Double Contrast Barium Enema), เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยภาพเสมือนจริง (Computed Tomography Colonoscopy) เป็นต้น เพื่อมอบบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย
ด้าน นพ.นัทธิวุธ วัฒนารักษ์สกุล อายุรแพทย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า จากสถิติทางด้านการแพทย์เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารและตับพบว่า โรคท้องเสีย (อุจจาระร่วง) และอาหารเป็นพิษมักพบบ่อยในคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล นอกจากนี้สำหรับโรคทางเดินอาหารที่ร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นลำดับ 3 ในเพศชาย และเป็นลำดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำและรวดเร็วตั้งแต่ในระยะแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ง่าย และช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วย โดยในปีที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้รักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารมากกว่า 25,289 ราย และได้ใช้การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารสำหรับผู้ป่วยมากกว่า 2,240 ราย
โดยศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดเข้ามาใช้ในการวินิจฉัยโรคในเครือโรงพยาบาลพญาไท อย่างเครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) เพื่อค้นหาความเสี่ยงภาวะตับแข็ง และไขมันเกาะตับ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจภาวะตับแข็งโดยเฉพาะ คล้ายการทำอัลตราซาวนด์ โดยมีหลักการสะท้อนของคลื่นเสียง แล้วนำมาแปลผล ประเมินภาวะตับแข็ง พังผืดที่ตับ หรือระดับไขมันเกาะตับ เพื่อดูระดับความรุนแรงของโรค โดยไม่ต้องตรวจเจาะชิ้นเนื้อตับ ซึ่งในอดีตมีหลายวิธีในการตรวจวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับแข็ง แต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดในเรื่องของความแม่นยำ ยกตัวอย่างเช่น อัลตราซาวนด์ เจาะเลือด เป็นวิธีการวินิจฉัยแบบคร่าว ๆ เท่านั้น วิธีการเจาะเนื้อตับแม้ว่าจะวินิจฉัยได้แม่นยำ แต่ว่าทำมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น เป็นต้น การใช้เครื่องไฟโบรสแกนใช้เวลาตรวจเพียง 5-10 นาทีก็สามารถทราบผลได้ทันที วิธีนี้ช่วยประหยัดเวลา ปลอดภัย ได้ผลแม่นยำ และไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัว รวมทั้งตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร แต่ก็มีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่อ้วนมาก ๆ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีชั้นไขมันหนา สัญญาณที่ส่งจากตัวเครื่องไปอาจจะไม่ถึงตัวตับ เพราะต้องผ่านชั้นไขมัน ทำให้การแปลผลค่อนข้างยาก หรือต้องใช้เวลาในการทำนานขึ้นเพื่อหาตำแหน่งที่ดีที่สุด