การแพ้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19
นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี
การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบันคือ การฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 โดยพบว่าวัคซีนที่รัฐบาลใช้ในการฉีดป้องกันโรค COVID-19 ให้แก่ประชาชนทั่วไปมี 2 ชนิดซึ่งแตกต่างกันในกระบวนการผลิต และแหล่งที่มาคือ วัคซีนจากบริษัท Sinovac และวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่ประชาชนในขณะนี้เริ่มฉีดให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก่อน และ กลุ่มเสี่ยงสูงอื่น ๆ ตามลำดับ โดยได้กระจายการฉีดวัคซีนตามความเสี่ยงที่พบการระบาดของโรค COVID-19 พบว่าวัคซีนที่ใช้ฉีดให้แก่ประชาชน ณ ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นวัคซีนจากไวรัสเชื้อตายของบริษัท Sinovac ขณะที่วัคซีนที่ผลิตจากไวรัสเวคเตอร์ของบริษัท AstraZeneca ได้เริ่มทยอยกระจายวัคซีนสู่ภาคประชาชนมากขึ้น
สิ่งที่ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ความสนใจ ด้านหนึ่งก็อยากฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสามารถไปประกอบกิจการค้าขายได้อย่างปกติ ช่วยผลักดันพลิกฟื้นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อีกด้านก็กลัวการเกิดอาการไม่พึงประสงค์และอาการแพ้ต่าง ๆ ภายหลังการฉีดวัคซีน กระบวนการให้ความรู้สู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึง และเฝ้าระวังการเกิดปัญหาภายหลังการฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดปัญหาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง ประชาชนที่เกิดปัญหาจะสามารถได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
โดยพบว่าปัญหาที่พบภายหลังการฉีดวัคซีนแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1. อาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยแขนขา เจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน 2. อาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง ได้แก่ พบผื่นแดง ความดันโลหิตลดลง ช็อก หมดสติ หายใจลำบาก มีอาการหัวใจหยุดเต้น ชักเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการทางระบบประสาท หรือป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา หรือป่วยจนต้องเสียชีวิต
ข้อมูลจากเอกสารกำกับยาของวัคซีน Sinovac ระบุว่าข้อมูลจากการวิจัยในประเทศอินโดนีเซียในอาสาสมัคร 1,620 ราย พบอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 71.6% ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด 33.3%, ปวดกล้ามเนื้อ 25.2%, ไข้ 2.5% ส่วนอาการแพ้พบเพียง 1 ราย โดยเป็นอาการแพ้แบบลมพิษ พบหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 วัน ถึงแม้ว่าภาวะแพ้รุนแรงจะพบได้ไม่บ่อยแต่มีโอกาสเกิดได้ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจ ในระยะแรกกระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้บริการวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ประจำเท่านั้น และต้องสังเกตอาการ 30 นาที หากมีอาการแพ้รุนแรงก็จะสามารถช่วยเหลือได้ทัน
หากระบบควบคุมเฝ้าระวังการเกิดปัญหาภายหลังการฉีดวัคซีนมีความรอบคอบเพียงพอ ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการฉีดวัคซีนว่าปลอดภัย เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะพร้อมใจกันไปฉีดวัคซีนหากปริมาณวัคซีนจัดสรรให้เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ COVID-19 ให้ตนเอง และช่วยแก้ไข รวมถึงพัฒนาผลักดันและขับเคลื่อนปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
กล่าวโดยสรุป อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์และอัตราการแพ้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 พบได้น้อยมาก และหากมีกระบวนการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่ดีเพียงพอ การฉีดวัคซีนที่ทั่วถึงและปลอดภัยจะทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 และเป็นการช่วยพัฒนาขับเคลื่อน รวมถึงแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป