อาหารและโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
JAMA Intern Med. Published online August 12, 2013
บทความเรื่อง Diet and Kidney Disease in High-Risk Individuals with Type 2 Diabetes Mellitus รายงานว่า ปัจจุบันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไตวายเรื้อรังกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อสาธารณสุข ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับอิทธิพลของอาหารต่อการเกิดโรคหรือการดำเนินโรคของไตวายเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ก็ยังคงมีจำกัด
นักวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคอาหาร (อาหารที่ดีต่อสุขภาพ) สุรา โปรตีน และโซเดียมต่อการเกิดโรคหรือการดำเนินโรคของไตวายเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยศึกษาจากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รวม 6,213 รายที่ไม่เป็น macroalbuminuria จากงานวิจัย Ongoing Telmisartan Alone and in Combination with Ramipril Global Endpoint Trial (ONTARGET) ซึ่งการรวบรวมผู้เข้าร่วมวิจัยมีขึ้นระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 และติดตามจนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2008
โรคไตวายเรื้อรังระบุจาก microalbuminuria หรือ macroalbuminuria ที่เพิ่งเป็น หรืออัตรากรองไตที่ลดลงมากกว่า 5% ต่อปีที่การติดตาม 5.5 ปี นักวิจัยประเมินอาหารโดยใช้ดัชนี Alternate Healthy Eating Index (mAHEI) ที่ปรับปรุงแล้ว การวิเคราะห์ได้ปรับตามปัจจัยเสี่ยงที่มีข้อมูล รวมถึงได้พิจารณา competing risk ของการตาย
หลังการติดตาม 5.5 ปี มีผู้เข้าร่วมวิจัย 31.7% เป็นไตวายเรื้อรัง และเสียชีวิต 8.3% เมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีคะแนน mAHEI ต่ำสุดพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มที่มีคะแนนอาหารสุขภาพสูงสุดมีความเสี่ยงต่อไตวายเรื้อรังต่ำกว่า (adjusted odds ratio [OR], 0.74; 95% CI, 0.64-0.84) และมีความเสี่ยงการตายต่ำกว่า (OR, 0.61; 95% CI, 0.48-0.78) ผู้เข้าร่วมวิจัยที่รับประทานผลไม้มากกว่า 3 ส่วนต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงไตวายเรื้อรังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมวิจัยที่รับประทานผลไม้น้อยกว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มที่รับประทานโปรตีนโดยรวมและโปรตีนสัตว์น้อยที่สุดมีความเสี่ยงต่อไตวายเรื้อรังสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุด (total protein OR, 1.16; 95% CI, 1.05-1.30) การรับประทานโซเดียมไม่สัมพันธ์กับไตวายเรื้อรัง และการดื่มสุราในปริมาณพอเหมาะลดความเสี่ยงไตวายเรื้อรัง (OR, 0.75; 95% CI, 0.65-0.87) และการตาย (OR, 0.69; 95% CI, 0.53-0.89)
อาหารสุขภาพและการดื่มสุราในปริมาณที่พอเหมาะอาจลดการเกิดหรือการดำเนินโรคของไตวายเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ขณะเดียวกันก็พบว่าการรับประทานโซเดียมและการรับประทานโปรตีนในปริมาณปกติไม่สัมพันธ์กับโรคไตวายเรื้อรัง