ความปลอดภัยและประสิทธิผลเสริมธาตุเหล็กเพื่อลดความจำเป็นรับเลือด

ความปลอดภัยและประสิทธิผลเสริมธาตุเหล็กเพื่อลดความจำเป็นรับเลือด

BMJ 2013;347:f4822

          บทความเรื่อง Safety and Efficacy of Intravenous Iron Therapy in Reducing Requirement for Allogeneic Blood Transfusion: Systematic Review and Meta-Analysis of Randomised Clinical Trials รายงานผลจากงานวิจัย systematic review และ meta-analysis จากการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลการให้ธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำเพื่อศึกษาผลลัพธ์ต่อฮีโมโกลบิน ความจำเป็นการรับเลือด และความเสี่ยงการติดเชื้อ

นักวิจัยรวบรวมงานวิจัยเปรียบเทียบจาก Medline, Embase และ Cochrane Central Register of Controlled Trials จากปี ค.ศ. 1996 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 2013 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา งานวิจัยที่นำมาศึกษาเป็นงานวิจัยเปรียบเทียบการให้ธาตุเหล็กผ่านหลอดเลือดดำเทียบกับการไม่ให้ธาตุเหล็ก หรือให้ธาตุเหล็กแบบยารับประทาน นักวิจัยได้คัดงานวิจัยแบบ crossover และ observational studies ออก โดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นฮีโมโกลบินและความเสี่ยงการได้รับเซลล์เม็ดเลือดแดง (ประสิทธิผล) และความเสี่ยงการติดเชื้อ (ความปลอดภัย) เป็นผลลัพธ์หลัก

มีงานวิจัย 75 ชิ้น รวมผู้ป่วย 10,605 รายซึ่งมีข้อมูลผลลัพธ์เชิงปริมาณสำหรับการวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยที่เข้าเกณฑ์การศึกษารวม 75 ชิ้น การให้ธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นฮีโมโกลบิน (standardised mean difference 6.5 g/L, 95% confidence interval 5.1-7.9 g/L) และลดความเสี่ยงต่อความจำเป็นได้รับเซลล์เม็ดเลือดแดง (risk ratio 0.74, 95% confidence interval 0.62-0.88) โดยเฉพาะเมื่อให้ธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำร่วมกับ erythroid stimulating agents (ESAs) หรือในผู้ป่วยที่มี plasma ferritin concentration ต่ำที่พื้นฐาน จากการศึกษาไม่พบปฏิกิริยาที่มีนัยสำคัญระหว่างประสิทธิผลของการให้ธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำและชนิดหรือขนาดที่ให้ อย่างไรก็ดี การให้ธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้านความเสี่ยงการติดเชื้อ (relative risk 1.33, 95% confidence interval 1.10-1.64) เมื่อเทียบกับการให้ธาตุเหล็กแบบยารับประทานหรือไม่ให้ธาตุเหล็ก และยังคงได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันภายหลังวิเคราะห์เฉพาะงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง

การให้ธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำให้ผลดีในการเพิ่มความเข้มข้นฮีโมโกลบินและลดความเสี่ยงการได้รับเซลล์เม็ดเลือดแดง และอาจมีประโยชน์ในการรักษาฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี การให้ธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำก็อาจทำให้ความเสี่ยงการติดเชื้อสูงขึ้น