สื่อการดูแลแผลที่เท้าผู้ป่วยเบาหวาน ศิริราช เข้าใจง่าย ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลา

สื่อการดูแลแผลที่เท้าผู้ป่วยเบาหวาน ศิริราช
เข้าใจง่าย ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลา

ในปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้าจำนวนเฉลี่ย 3-5 ราย/วัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องเดินทางมาทำแผลที่โรงพยาบาลทุกวัน แต่มีผู้ป่วยบางรายที่แพทย์พิจารณาว่าลักษณะแผลไม่อันตรายและสามารถกลับไปทำแผลเองที่บ้านได้ โดยมีการสาธิตการทำแผลให้ดู แต่หลังจากที่ผู้ป่วยและญาติกลับไปทำแผลเอง ได้เกิดความไม่มั่นใจและลืมวิธีการทำแผลที่ถูกต้องในบางขั้นตอน

จากประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ นางจุภาภรณ์ กังวานภูมิ พยาบาล (ชำนาญการ) หน่วยผ่าตัดเล็กและชะแผล ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และทีมวิจัย จัดทำ VCD ร่วมกับแผ่นพับวิธีการทำแผลขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถทำแผลเองได้ที่บ้าน เป็นการลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางมาโรงพยาบาล และลดภาระงานของหน่วยตรวจโรคผ่าตัดเล็ก นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาวิธีการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลตนเอง เพื่อให้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน

ระเบียบวิธีวิจัย

เป็นการศึกษาวิจัยแบบ Quasi-Experiment Research เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้ VCD และแผ่นพับคู่มือที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมาใช้ประกอบการสอน สาธิต การทำแผลที่เท้า โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองจำนวน 40 ราย และกลุ่มควบคุม 38 ราย ซึ่งได้รับอนุญาตจากแพทย์ให้ทำแผลที่บ้านได้ โดยกลุ่มทดลองจะได้รับ VCD และแผ่นพับคู่มือนำกลับไปที่บ้านด้วย เพื่อทบทวนการปฏิบัติ และติดตามผลจากวิธีการทำแผลที่ถูกต้องในสัปดาห์ที่ 4 ติดตามอัตราการหายของแผลและค่าใช้จ่ายโดยรวมในสัปดาห์ที่ 12

ผลการศึกษา

จากการศึกษาพบความถูกต้องของการทำแผลที่ 4 สัปดาห์ ในกลุ่มทดลองที่ได้รับการสอน สาธิตการทำแผลโดยใช้ VCD และแผ่นพับคู่มือจำนวน 40 ราย (ร้อยละ 100) กลุ่มควบคุมจำนวน 14 รายจาก 32 ราย (ร้อยละ 43.8) (p < 0.001) การศึกษาอัตราการหายของแผลที่ 12 สัปดาห์ ไม่พบความแตกต่างทางสถิติของทั้งสองกลุ่ม นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยโดยรวมของทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) โดยกลุ่มทดลองเป็นเงิน 1,191 บาท และกลุ่มควบคุมเป็นเงิน 2,419.80 บาท

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ

            เป็นพื้นฐานสำคัญและเป็นการพัฒนางานให้มีคุณภาพ โดยเน้นให้มีการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นทีมสหสาขาวิชา (Multidisciplinary) เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (Holistic) โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient Centered) และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) ทำให้มีการพัฒนาระบบการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนางานประจำต่อไป 

ด้วยความโดดเด่นของงานวิจัยที่ได้ประยุกต์หลักของการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติในการดูแลรักษาพยาบาลซึ่งเป็น empowerment อย่างหนึ่ง โดยมีการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากเข้ามาช่วยทำให้ง่ายขึ้น ผลการศึกษาแสดงให้เห็นชัดว่าท่ามกลางปริมาณงานที่มาก บริการรักษาพยาบาลที่มาก การสอนให้ผู้ป่วยและญาติทำแผลเองได้ ทำให้ลดภาระงานประจำได้จำนวนมาก และผลการวิจัยก็พิสูจน์ว่าการหายของแผลไม่มีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ด้วยกระบวนการของกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน ทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังที่ต่าง ๆ ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในสถานที่ผู้ป่วยห่างไกลจากโรงพยาบาล และยังพิสูจน์ว่ามีต้นทุนที่ถูกกว่า จึงทำให้ผลงาน “ประสิทธิผลของการใช้สื่อสนับสนุนในการดูแลแผลที่เท้าด้วยตนเองในผู้ป่วยเบาหวาน” ได้รับ รางวัลผลงาน R2R ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2556 ประเภทการบริการระดับตติยภูมิจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

นางจุภาภรณ์ กล่าวว่า รู้สึกชื่นใจที่สามารถพัฒนางานประจำไปสู่งานวิจัย และได้เผยแพร่ออกไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งภายในหน่วย และโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ทีมงานได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอผลงานในการประชุม 6th International Symposium on the Diabetic Foot ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้ได้บทเรียนที่ว่า ถ้ามีโครงการ ถ้ามี R2R ก็สามารถก้าวสู่ระดับประเทศและต่างประเทศได้

“ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่กำลังริเริ่มพัฒนางานวิจัย ในช่วงแรกของการเริ่มต้นอาจจะรู้สึกว่ายาก แต่ก็ขอให้พยายามต่อไป เพราะตนก็เป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ยังขาดความมั่นใจ ประสบการณ์ และทักษะการทำงานวิจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น การสร้างเครื่องมือ การวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ แต่ก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ เพราะหากมองถึงผลลัพธ์ที่ได้รับ คือเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ก็ถือเป็นการทุ่มเทที่คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับทุนสนับสนุนสำหรับการทำวิจัยจากโครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และได้รับการอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาที่ทำงานวิจัยจากหน่วยผ่าตัดเล็กและชะแผล” นางจุภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย