ผศ.นพ.ดร.ฉัตรชัย เหมือนประสาท
นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2556
ผู้พัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพรักษาอหิวาตกโรค
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น คัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 และรวมถึงคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา องค์ประกอบของคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ ตามช่วงเวลาที่ผ่านไป อย่างไรก็ดี จุดประสงค์หลักของคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นยังคงเป็นเช่นเดิม คือการสรรหานักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีความสามารถและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อยกย่องเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อให้สังคมไทยได้มองเห็นและร่วมยกย่อง สรรเสริญ เชิดชู เพื่อให้เป็นแบบอย่างและเป็นขวัญกำลังใจแก่ตัวนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ถูกคัดเลือกให้มีพลังในการมุ่งมั่นทำงานวิจัย ประกอบคุณงามความดีเพื่อประเทศชาติและมนุษยชาติต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ คณะกรรมการฯ จึงเห็นพ้องต้องกันที่จะคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นทั้ง “คนเก่งและคนดี” โดยในการพิจารณาได้คำนึงถึงเกณฑ์ที่ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพและปริมาณของผลงานวิจัยที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับแนวหน้าที่มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัดและเป็นที่ยอมรับ คณะกรรมการฯ ยังได้วิเคราะห์ด้านการอ้างอิงผลงานของนักวิทยาศาสตร์ในวารสารที่ได้มาตรฐานโดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้พิจารณาถึงคุณสมบัติส่วนบุคคลในด้านการอุทิศตนเพื่องานวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง มีความประพฤติเป็นที่น่าเคารพนับถือ และมีลักษณะเป็นผู้นำทางวิชาการ เหมาะสมที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่าง “นักวิทยาศาสตร์” ที่ดีงามในสังคมไทยและสังคมโลก
สำหรับการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปีพุทธศักราช 2556 คณะกรรมการฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิให้เสนอชื่อของนักวิทยาศาสตร์ไทย และนำรายชื่อของผู้ที่อยู่ในข่ายการพิจารณา รวมทั้งรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในลำดับสูงของการพิจารณาเมื่อปีที่ผ่านมาเข้าสมทบให้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคัดเลือก ในที่สุดคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นได้มีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ผศ.นพ.ดร.ฉัตรชัย เหมือนประสาท อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2556 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยผลงานวิจัยที่มีออกมาตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยการนำความรู้ทางสรีรวิทยามาประยุกต์ใช้ในการศึกษากลไกการเกิดโรค ตลอดจนพัฒนาวิธีการใหม่ในการป้องกันและรักษาโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ หรือโรคที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ หรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศ เช่น พืชสมุนไพร ผลไม้ หรือของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น และเป็นการวิจัยแบบสหสาขาวิชาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ต่างสาขาวิชาหลายท่าน และมีงานวิจัยที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “การพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพยับยั้ง CFTR chloride channel โดยใช้สมุนไพร-ของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแช่แข็ง เพื่อรักษาโรคท้องร่วงอหิวาตกโรค”
ผศ.นพ.ดร.ฉัตรชัย เปิดเผยถึงการค้นพบสารเคมีที่ยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ที่มีชื่อว่า Cystic Fibrosis Transmembrane Conductance Regulator หรือ CFTR chloride channel ในการรักษาอหิวาตกโรคว่า เป็นงานวิจัยที่เน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ทางสรีรวิทยาในการศึกษากลไกการเกิดอหิวาตกโรค เพื่อพัฒนาวิธีการป้องกันและรักษาโรคดังกล่าวซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศ โดยนำทรัพยากรธรรมชาติของไทย เช่น สมุนไพร ผลไม้ รวมถึงของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแช่แข็งเข้ามาศึกษาวิจัยด้วย หลังพบว่าอหิวาตกโรคและโรคลำไส้อักเสบยังคงระบาดในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย รวมถึงในภาวะปัจจุบันที่โลกเกิดความแปรปรวนด้านภูมิอากาศ
“ตั้งแต่ตอนเรียนแพทย์ ผมรู้สึกว่ามีโรคหลายโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น โรคท้องร่วง ซึ่งปัจจุบันวิธีรักษาอาการมีอย่างเดียวคือ การให้น้ำเกลือแร่และกินยาฆ่าเชื้อเท่านั้น ขณะที่ต่างประเทศก็ไม่ได้สนใจที่จะพัฒนาวิธีการรักษาโรคนี้ เพราะเป็นโรคของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเราเท่านั้น ผมทำงานวิจัยร่วมกับนักจุลชีววิทยาซึ่งเขาจะเลี้ยงเชื้ออหิวาต์สำหรับใช้ในการวิจัย เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการนำเชื้ออหิวาต์จริง ๆ มาทำการศึกษา และที่ผมจับปัญหานี้ก็เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเกิดโรคอหิวาต์นั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโลกร้อนขึ้นและคาดคะเนกันว่าทุก 1 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราการเกิดโรคอหิวาต์สูงขึ้นถึง 15% จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี พ.ศ. 2553 พบว่ามีคนไทยเป็นโรคอหิวาต์มากกว่า 1,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจริง ๆ แล้วในส่วนของแพทย์ที่วินิจฉัยจะไม่ระบุว่าเป็นโรคอหิวาต์ แต่จะระบุว่าเป็นโรคท้องร่วงเฉียบพลัน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะโรคอหิวาต์บ่งบอกได้ถึงสถานภาพการพัฒนาของประเทศในด้านสาธารณสุขด้วย ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกก็ระบุว่าประเทศไทยยังมีอหิวาต์อยู่”
ผศ.นพ.ดร.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อรวดเร็ว รุนแรง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Vibrio cholerae ในลำไส้ โดยเชื้อดังกล่าวสร้างพิษ Cholera toxin นำไปสู่การกระตุ้นการหลั่งคลอไรด์อิออน แล้วดึงดูดเกลือโซเดียมและน้ำเข้าสู่โพรงลำไส้ จึงทำให้ผู้ป่วยสูญเสียน้ำทางลำไส้และนำไปสู่การขาดน้ำอย่างรุนแรงจนอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ แพทย์จึงให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป ซึ่งการแก้ไขด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ช่วยรักษาหรือลดอาการท้องร่วง เป็นแต่เพียงการให้น้ำและเกลือแร่ชดเชยส่วนที่สูญเสียไปเท่านั้น
“ทั่วโลกทุกปีมีคนตายด้วยอหิวาตกโรคถึง 300,000 คน และที่สำคัญคือ อหิวาต์ไม่ได้มีผลให้เกิดอาการท้องร่วงแล้วตายอย่างเดียว ต่างประเทศวิจัยออกมาแล้วโดยระบุว่า โรคท้องร่วงต้องหาวิธีที่จะป้องกันรักษาโดยเฉพาะในเด็ก เพราะโรคท้องร่วงไม่ใช่โรคที่หากเกิดอาการแล้วกินเกลือแร่ก็จะหาย ในผู้ใหญ่อาจจะไม่กระทบมากนัก แต่ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต เนื่องจากในเด็กที่มีอาการท้องร่วงบ่อย ๆ ร่างกายจะมีการปรับตัวเพื่อให้ใช้พลังงานได้น้อย จะทำให้สมองมีการพัฒนาน้อยลง ฉลาดน้อยลง เละเมื่อโตขึ้นร่างกายจะใช้พลังงานน้อยทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเบาหวานและโรคร้ายแรงอื่น ๆ ในอนาคต”
ทั้งนี้งานวิจัยที่ ผศ.นพ.ดร.ฉัตรชัย ได้ศึกษาวิจัยแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่
1. การวิจัยเพื่อพัฒนาคาร์โบไฮเดรตโพลิเมอร์ที่เตรียมจากเปลือกกุ้งและแกนหมึก เป็นโภชนเภสัชภัณฑ์ (neutraceuticals) เพื่อบำบัดรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบของลำไส้ โดยพบว่า Chitooligosaccharide จากเปลือกกุ้งสามารถลดอาการท้องร่วงและการเสียชีวิตที่เกิดจากภาวะลำไส้อักเสบได้ ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ใหม่คือ การเสริมสร้างหน้าที่ปกป้องตนเองของลำไส้ (intestinal barrier function) และลดการอักเสบ งานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำไปสู่การพัฒนาสาร Chitooligosaccharide จากเปลือกกุ้งให้เป็นโภชนเภสัชภัณฑ์ เพื่อการรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการอักเสบ เช่น โรคท้องร่วง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ได้
2. การวิจัยเพื่อพัฒนาเภสัชภัณฑ์หรือยารักษาโรคท้องร่วงจากอหิวาตกโรค ซึ่งพบว่าสาร glycine hydrazide สามารถยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ (CFTR chloride channel) ในเซลล์ลำไส้ของมนุษย์และลดอาการท้องร่วงจากอหิวาตกโรคได้ ซึ่งงานวิจัยนี้นำไปสู่การจดสิทธิบัตรยาในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2547 จากนั้นได้ร่วมมือวิจัยกับนักเคมีอินทรีย์ชั้นนำของไทยที่วิจัยเกี่ยวกับสารจากพืช เช่น สารในกลุ่ม steviol จากใบหญ้าหวาน สาร hydrolysable tannin จากผลสมอ สารในกลุ่ม chalcone จากดอกทองกวาว และสาร xanthone จากเปลือกมังคุด ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ในลำไส้ของมนุษย์ และสามารถลดการคัดหลั่งของน้ำเข้าสู่โพรงลำไส้ที่ทำให้เกิดอหิวาตกโรคได้
3. การวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาโรคธาลัสซีเมีย โดยได้ค้นพบวิธีการใหม่ในการยืดอายุเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียด้วยการยับยั้งการขนส่งสารกลูต้าไธโอนออกจากเซลล์เม็ดเลือดแดง วิธีการนี้จะทำให้ปริมาณของสารกลูต้าไธโอนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญในเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ทำให้เม็ดเลือดแดงเสื่อมช้าและถูกทำลายช้าลง จึงทำให้ความรุนแรงของโรคธาลัสซีเมียลดน้อยลง ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.ดร.ฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยที่ศึกษาทั้งหมดเป็นหลักฐานทางการแพทย์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโรคได้ง่ายขึ้น รวมถึงนักวิจัยที่ศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับยา ควรเพิ่มข้อบ่งชี้การใช้ยาว่าสามารถต่อยอดหรือขยายการรักษาไปยังโรคอื่นได้ด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันการได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้งานวิจัยไทยก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่ประเทศพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป