สารต้านอนุมูลอิสระกับภาวะมีบุตรยาก
ภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากขึ้น หากคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรแต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ภายในช่วง 1 ปีที่ปราศจากการคุมกำเนิดในช่วงที่ไข่ตก ซึ่งเป็นช่วงที่ไข่มีโอกาสผสมมากที่สุดของรอบเดือน แสดงถึงภาวะการมีบุตรยาก ปัญหานี้พบบ่อยมากขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา บรรดาผู้มีบุตรยากพยายามมาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถาบันต่าง ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุและแก้ไขภาวะมีบุตรยาก พบว่าสาเหตุของภาวะมีบุตรยากร้อยละ 30 เกิดจากฝ่ายหญิง ร้อยละ 30 เกิดจากฝ่ายชาย และร้อยละ 30 เกิดจากทั้งสองฝ่าย และอีกร้อยละ 10 ไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจน สาเหตุของฝ่ายชายที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้ออสุจิน้อยไม่แข็งแรง หรือไม่มีเชื้ออสุจิออกมาในอสุจิ ทำให้อสุจิไม่สามารถไปผสมกับไข่ได้ ที่พบบ้างเป็นส่วนน้อยในฝ่ายชายคือ ยีนผิดปกติหรือโครโมโซมผิดปกติ สาเหตุทางฝ่ายหญิงที่พบบ่อย ได้แก่ ไข่ไม่ตก ท่อนำไข่อุดตัน หรือมีพังผืดซึ่งมักเกิดจากการอักเสบในอุ้งเชิงกรานหรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (endometriosis) อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อย พังผืด และถุงนํ้า (cyst) ของรังไข่ บางรายอาจมีการเจริญผิดปกติของมดลูกหรือมีเนื้องอกมดลูกซึ่งทำให้มีการแท้งบ่อย ๆ พบหลักฐานของการใช้สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มหญิงที่มีภาวะมีบุตรยากมากขึ้น หลักฐานแสดงให้เห็นว่าสารต้านอนุมูลอิสระช่วยปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของร่างกาย การเสริมสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิดแก่หญิงที่มีภาวะมีบุตรยากช่วยให้ภาวะการเจริญพันธุ์ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการทำการศึกษาในวันนี้
เราได้รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลเชิงประจักษ์อันได้แก่ Cochrane (Subfertility) MEDLINE, EMBASE, PsycINFO, CINAHL, OpenSIGLE ได้รวบรวมการวิจัยทั้งหมด 28 งานวิจัย รวบรวมหญิงที่มีภาวะมีบุตรยากจำนวน 3,548 คน ทำการศึกษาผลของการให้สารต้านอนุมูลอิสระ pentoxifylline, N-acetyl-cysteine, melatonin, L-arginine, vitamin E, myo-inositol, vitamin C, vitamin D + calcium, omega-3 เปรียบเทียบผลการศึกษากับยาหลอก และกลุ่มที่ไม่ได้รับสารดังกล่าว พบว่าเฉพาะสาร pentoxifylline เท่านั้นที่มีผลเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ (OR 2.03, 95% CI 1.19-3.44, p = 0.009) ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระอื่นยังไม่แสดงผลการเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ที่ชัดเจน แต่เนื่องจากข้อมูลการศึกษายังมีน้อย ยังต้องการผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
กล่าวโดยสรุป สารต้านอนุมูลอิสระช่วยบำรุงร่างกายของสตรีที่อยู่ในภาวะมีบุตรยากให้สมบูรณ์มากขึ้น พบว่าสาร pentoxifylline มีผลเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งความหวังของครอบครัวที่ต้องการมีบุตร