‘หมอในดวงใจ’ สะท้อนมุมมองประชาชน สู่การผลิตแพทย์ในอุดมคติ

‘หมอในดวงใจ’ สะท้อนมุมมองประชาชน สู่การผลิตแพทย์ในอุดมคติ

ปัจจุบันพบว่ามีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในเรื่องของการสื่อสารและการดูแลรักษา ทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของระบบการแพทย์และสาธารณสุข

คณะกรรมการแพทยสภาได้เล็งเห็นความสัมพันธ์นี้ และอยากเห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ จึงได้จัดทำโครงการ “หมอในดวงใจ” เพื่อสะท้อนมุมมองของประชาชนในสังคมปัจจุบันว่า แพทย์ที่ดีในสายตาของประชาชนเป็นอย่างไร คุณลักษณะที่ดีของแพทย์พึงมีในทัศนะของประชาชนเป็นอย่างไร ซึ่งความรู้ที่ได้จะนำมาปรับใช้ในกระบวนการของการผลิตแพทย์ในอุดมคติต่อไป

.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเผยแพร่ประสบการณ์ ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับ “หมอในดวงใจ” ผ่านสารคดี เพื่อได้สารคดีที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์การทำงานของแพทย์ที่ดี และเผยแพร่สารคดี “หมอในดวงใจ” สู่ระดับชาติ เพื่อจะได้ทราบความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อแพทย์ในปัจจุบัน ชิงเงินรางวัลร่วม 100,000 บาท รางวัลที่ 1 โล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินสด 30,000 บาท

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการร่างหลักสูตร เรามองเพียงด้านเดียว คืออยากให้หมอเป็นอย่างไร แต่เราไม่ได้มองด้านประชาชนว่าจริง ๆ เขาอยากเห็นหมอเป็นอย่างไร ในต่างประเทศมีการออกไปสอบถามประชาชนว่าคุณอยากเห็นหมอเป็นอย่างไร เช่น อยากได้หมอที่สนใจผู้ป่วย ฟังผู้ป่วย อธิบายและชี้แจงเรื่องโรคแก่ผู้ป่วย เมื่อเรารู้ว่าเขาต้องการแพทย์อย่างไร ในการผลิตแพทย์จะได้ถูกต้องตามความต้องการนั้น”

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากการที่แพทย์มองผู้ป่วยเป็นเครื่องจักร จึงมุ่งเน้นการซ่อมเครื่องอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยก็มีชีวิตจิตใจ เพราะฉะนั้นนอกจากการมุ่งเน้นทางวิชาการและมาตรฐานการรักษาแล้ว ยังต้องเน้นเรื่องของจิตใจ โดยโครงการหมอในดวงใจจะช่วยสะท้อนมุมมองของประชาชนว่าคิดอย่างไร เพื่อที่จะได้นำความคิดต่าง ๆ เหล่านั้นมาปรับปรุงเป็นแนวทางในการร่างหลักสูตรแพทยศาสตร์ในอนาคต

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ข้อมูลที่จะได้จากการเขียนในครั้งนี้จะถูกนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ วิธีการทำงาน และมาตรการต่าง ๆ ของแพทยสภา โดยแพทยสภามีบทบาท 3 ด้านคือ 1. รักษาเกียรติของสถาบันแพทย์ 2. เป็นตัวแทนของแพทย์ทั้งประเทศทุกรูปแบบตามกฎหมาย และ 3. ทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งในครั้งนี้เป็นการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงต้องขอข้อมูลจากประชาชนว่าหมอในดวงใจควรจะต้องเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะจากประสบการณ์ หรือการจินตนาการว่าควรจะเป็น

กติกาในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวด

1. เป็นงานเขียนที่แต่งขึ้นใหม่ ประเภทสารคดี เรื่องเล่า ในหัวข้อหมอในดวงใจ โดยให้ตั้งชื่อเรื่องใหม่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานของแพทย์ และ/หรือสัมพันธภาพระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย โดยสร้างสรรค์เป็นภาษาไทยมีความยาวของเรื่องไม่เกิน 10 หน้ากระดาษ A4 ขนาดตัวอักษร 16 point โดยส่งต้นฉบับและสำเนารวม 5 ชุด พร้อมกับแผ่นซีดี คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ส่งคืนผลงานเข้าประกวดทุกสำเนา (รวมต้นฉบับ) ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม

2. ไม่ได้ลอกเลียนแบบ ดัดแปลง หรือละเมิดลิขสิทธิ์ จากเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากงานสร้างสรรค์ของผู้ใด หากมีการลอกเลียน ดัดแปลง หรือละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะถูกตัดสิทธิจากการประกวด และต้องเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมายโดยลำพัง

3. ผลงานต้องไม่เคยส่งประกวดหรือเผยแพร่ในรูปแบบสื่อใด ๆ มาก่อน รวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ต หากมีการตรวจพบภายหลัง ผู้ส่งจะถูกตัดสิทธิการประกวด และมีผลถึงการพิจารณาการส่งเข้าประกวดในครั้งต่อไป

4. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมีสิทธิส่งผลงานได้เพียง 1 เรื่อง

5. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องมีชีวิตอยู่ขณะที่ส่งผลงาน

6. กรณีใช้นามปากกาหรือนามแฝง ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องแจ้งชื่อ นามสกุลจริง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวก

7. ผลงานที่ได้รับรางวัล แพทยสภาจะจัดพิมพ์และเผยแพร่เป็นครั้งแรก

8. คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาดำเนินการ “โครงการหมอในดวงใจ”, คณะกรรมการแพทยสภา/อนุกรรมการแพทยสภา และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการแพทยสภาไม่มีสิทธิส่งผลงานเข้าประกวด

รางวัลในการประกวด

1. รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินสด 30,000 บาท

2. รางวัลรองชนะเลิศ 1 รางวัล ได้รับโล่จากแพทยสภา พร้อมเงินสด 15,000 บาท

3. รางวัลชมเชย 10 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรจากแพทยสภา พร้อมเงินสด 5,000 บาท

ระยะเวลาของโครงการหมอในดวงใจ

- เปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556 - 31 มกราคม พ.ศ. 2557 (รับต้นฉบับ)

- คัดเลือกผลงานภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557 (ระยะเวลา 3 เดือน)

- ตัดสินผลงานภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (ระยะเวลา 3 เดือน)

- ประกาศผลรางวัลวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

- รับรางวัลวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557 (วันครบรอบวันเกิดแพทยสภา)

นพ.สัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าแพทย์พยายามจะมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน โดยหวังว่าสารคดี เรื่องเล่าทั้งหลายจะเป็นข้อมูลที่ถูกนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในการผลิตแพทย์ เตือนแพทย์ บอกแพทย์ทั้งหมดว่าประชาชนต้องการแพทย์แบบนี้ อยากให้แพทย์ให้ความสำคัญในส่วนนี้ เช่น การให้ข้อมูลผู้ป่วย การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย เป็นต้น

“เงยหน้าไปยิ้มให้ผู้ป่วย สบตากับผู้ป่วยบ้าง ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาเขียนใบสั่งแพทย์อย่างเดียว ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้ใช้เวลาไม่นาน แต่สามารถสื่อสารได้หลายอย่าง เป็นเทคนิคที่ต้องเข้าใจไว้ เพราะหมอที่ไม่มองตาผู้ป่วย ผมเชื่อว่าไม่มีทางจะเป็นหมอในดวงใจได้ ซึ่งในส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในการผลิตแพทย์ สอนเทคนิควิธีการทำอย่างไรให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าหมอไม่ทอดทิ้งเขา คือโดยส่วนมากอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องของวิชาการ แต่เป็นเรื่องของศิลปะมากกว่า”

นอกจากนี้ในการเป็นแพทย์ต้องยึดถือพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดา “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจหนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพให้บริสุทธิ์” ซึ่งเป็นความจริงที่แพทย์ควรยึดปฏิบัติเพื่อการเป็นแพทย์ที่ดี โดยการจะเป็นแพทย์ที่ดีได้นั้น จะต้องมีอย่างน้อยสองอย่างคือ เก่งและดีควบคู่กัน 

ด้าน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาดำเนินการ “โครงการหมอในดวงใจ” กล่าวว่า คณะกรรมการแพทยสภาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาดำเนินการ “โครงการหมอในดวงใจ” ในการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 4/2556 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556 โดยมีตนเป็นประธานประกอบด้วย

1. พญ.ชัญวลี ศรีสุโข ประธานอนุกรรมการ

2. น.อ.(พ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ อนุกรรมการ

3. น.ท.นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ อนุกรรมการ

4. นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ อนุกรรมการ และเลขานุการ

5. นางพลอยรัตน์ พวงชมภู ผู้ช่วยเลขานุการ

6. นางทรรศนีย์ นาควิเชตร ผู้ช่วยเลขานุการ

7. นางสาวกรองแก้ว พรหมะวัน ผู้ช่วยเลขานุการ

นอกจากนี้มีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาคัดเลือกบทความเข้าประกวด ประกอบด้วย

1. พญ.ชัญวลี ศรีสุโข ที่ปรึกษา

2. นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย ประธานอนุกรรมการ

3. นางสาวสุมิตรา จันทร์เงา รองประธานอนุกรรมการ

4. นายสุริยัน สุดศรีวงศ์ อนุกรรมการ

5. นายโมน สวัสดิ์ศรี อนุกรรมการ

6. นางเตือนใจ นิลรัตน์ อนุกรรมการ และเลขานุการ 

7. นางพลอยรัตน์ พวงชมภู ผู้ช่วยเลขานุการ

และอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาตัดสินบทความเข้าประกวด ประกอบด้วย

1. นางชมัยภร บางคมบาง ประธานอนุกรรมการ

2. นายพินิจ นิลรัตน์ รองประธานอนุกรรมการ

3. อาจารย์ภาณุพงษ์ คงจันทร์ อนุกรรมการ

4. นายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง อนุกรรมการ

5. พญ.ชัญวลี ศรีสุโข อนุกรรมการ และเลขานุการ

6. นางพลอยรัตน์ พวงชมภู ผู้ช่วยเลขานุการ

พญ.ชัญวลี กล่าวเพิ่มเติมว่า แพทย์สมัยนี้กับสมัยก่อนมีความแตกต่างกัน ความชอบของประชาชนก็ อาจจะแตกต่างไปด้วย โครงการนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดถึงหมอในดวงใจ ทั้งทางลบและทางบวก เพราะปัจจุบันวงการแพทย์มีความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย นำมาซึ่งการฟ้องร้อง โดยสาเหตุหลักมาจาก 2 ประการ ประการแรกเรื่องการสื่อสารกับประชาชน ประการที่สองเรื่องมาตรฐานการรักษา ปัจจุบันปัญหาการสื่อสารเป็นปัญหาอันดับหนึ่งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม อยากจะเห็นว่าผู้ป่วยมองหมอในดวงใจอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้รับเสียงสะท้อนเรื่องนี้มากขึ้น

สำหรับผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาคาร 6 ชั้น 7 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 0-2590-1886, 08-9530-1112 E-mail: prtmc.tmc@gmail.com ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.tmc.or.th, www.facebook.com/pages/หมอในดวงใจ