การทาฟลูออไรด์วานิชป้องกันฟันผุ

  การทาฟลูออไรด์วานิชป้องกันฟันผุ         
        ปัจจุบันโรคฟันผุยังคงเป็นปัญหาทางทันตสาธารณสุขของประเทศไทย จากผลการสํารวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งล่าสุดยังพบว่า ความชุกในการเกิดโรคฟันผุลดลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย จึงนับว่ายังคงเป็นปัญหาที่ต้องการการป้องกันและแก้ไข การใช้ฟลูออไรด์เป็นวิธีที่ยอมรับกันทั่วไปว่าสามารถป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลในการป้องกันฟันผุของฟลูออไรด์เป็นผลเฉพาะที่บนผิวฟันและบริเวณรอบ ๆ ตัวฟัน (topical  effect) มากกว่าผลจากทางระบบ (systemic effect) กลไกหลักที่สําคัญของฟลูออไรด์ในการป้องกันฟันผุคือ การส่งเสริมการสะสมของแร่ธาตุที่ผิวฟัน (enhancement of tooth mineralization) และทําให้เกิดการย้อนกลับของการละลายตัวของแร่ธาตุที่ผิวฟัน (reversal of tooth demineralization) ฟลูออไรด์ในความเข้มข้นต่ํา น้อยกว่า 1 ส่วนในล้านส่วน (ppm) สามารถกระตุ้นให้เกิดการสะสมแร่ธาตุคืนกลับ (remineralization) ส่วนผลต่อผลึกของฟันพบว่าฟลูออไรด์ที่ระดับ ≤ 100 ppm จะแทนที่ในผลึกไฮดรอกซีอะปาไทต์ (Hydroxyapatite) เกิดเป็นฟลูออโรอะปาไทต์ (Fluoroapatite) และไฮดรอกซีฟลูออโรอะปาไทต์ (Hydroxyfluoroapatite) เมื่อมีฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงมากกว่า 100 ส่วนในล้านส่วนจะทําให้เกิดเป็นแคลเซียมฟลูออไรด์ (Calcium fluoride) และอาจแตกตัว เกิดการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุสร้างเป็นฟลูออโรอะปาไทต์และไฮดรอกซีฟลูออโรอะปาไทต์ ได้พบว่าผลึกใหม่นี้มีค่าพีเอชวิกฤต (Critical pH) 4.5 ซึ่งต่ำกว่าผลึกไฮดรอกซีอะปาไทต์ที่มีค่าพีเอชวิกฤต 5.5 จึงมีความทนต่อการละลายจากกรดได้ดีกว่าผลึกไฮดรอกซีอะปาไทต์

            ฟลูออไรด์มีหลายประเภท พบว่าฟลูออไรด์วานิชเป็นฟลูออไรด์ที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันฟันผุ ฟลูออไรด์วานิชที่นิยมใช้คือ 5% Sodium fluoride การรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ Cochrane ที่เกี่ยวกับการใช้ฟลูออไรด์วานิชตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975-2013 ได้รวบรวมเด็กและวัยรุ่นจำนวน 12,455 คน ได้ทำการรักษาด้วย การทาฟลูออไรด์วานิช โดยก่อนทาต้องทําความสะอาดฟันโดยเช็ดฟัน ขัดฟัน หรือแปรงฟันให้สะอาดเสียก่อน แล้วจึงทาฟลูออไรด์วานิชบาง ๆ ด้วยพู่กัน ควรหลีกเลี่ยงการทาโดนบริเวณเหงือก เพื่อลดโอกาสการแพ้หรืออาการระคาย การศึกษาทำการเปรียบเทียบผลกับยาหลอก ผลการศึกษาพบว่าฟลูออไรด์วานิชมีประสิทธิภาพการป้องกันฟันผุร้อยละ 43 ในฟันแท้ และร้อยละ 33ในฟันน้ำนม โดยพบว่าการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทั่วไปมีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุร้อยละ 25 เท่านั้น ภายหลังการทาฟลูออไรด์วานิชควรเลี่ยงอาหารแข็งอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมงในวันนั้น และงดการแปรงฟันในวันที่ทาฟลูออไรด์วานิช เพื่อเพิ่มการยึดติดและการปล่อยฟลูออไรด์สู่ผิวเคลือบฟัน

          กล่าวโดยสรุป ฟลูออไรด์วานิชมีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุร้อยละ 43 ในฟันแท้ และร้อยละ 33 ในฟันน้ำนม ซึ่งสามารถใช้เสริมจากยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในเด็กที่มีความเสี่ยงของการเกิดฟันผุสูงได้ โดยอยู่ในดุลยพินิจของทันตแพทย์