การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข (ตอนที่ 2)

การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข (ตอนที่ 2)

ตระกูล ส. มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงบทบาทและการดำเนินการในระบบสาธารณสุข

            ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของแผนการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขตามที่ได้มีข้อเสนอของ สวรส. ผ่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อกำหนดแผนการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขคือ สำนักวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งเป็นองค์กร “แม่” ของกลุ่มตระกูล ส. เป็นสถาบันที่มีความสำคัญในการทำการวิจัยหรืออ้างงานวิจัยให้มาเป็นเหตุผลในการเสนอการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในระบบสาธารณสุข และการจัดตั้งองค์กรตระกูล ส. อีกหลายองค์กร

            จึงควรจะต้องกล่าวถึง “องค์กรตระกูล ส.” ก่อน เพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจว่าองค์กรตระกูล ส. คืออะไร และมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง มีคนกลุ่มใดมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรเหล่านี้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในระบบสาธารณสุขไทย

ตระกูล ส. คือองค์กรอะไร มีอำนาจหน้าที่หรือบทบาทเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขอย่างไรบ้าง

            องค์กรตระกูล ส. คือองค์กรที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข โดยการผลักดันของสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท และที่ปรึกษาหลักคือ นพ.ประเวศ วะสี ในการจัดตั้งองค์กรก็จะต้องมีการเสนอกฎหมาย โดยการ “เข้าหา” ผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองในขณะนั้น เรียงลำดับตามการประกาศใช้ พ.ร.บ. เฉพาะเหล่านี้ ได้แก่

            1. พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535

            2. พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544

            3. พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

            4. พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

            จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับแรกเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี (ที่ไม่ได้มาตามระบอบประชาธิปไตย) ได้แก่ พ.ร.บ.สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ มีหัวหน้าสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นผู้อำนวยการ สวรส.

            ส่วน พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 เริ่มดำเนินการพิจารณาผ่านสภาฯ ในยุครัฐบาลของนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มาประกาศใช้ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คือ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นสำนักงานบริหาร โดยมีผู้อำนวยการ สสส. เป็นหัวหน้าสำนักงาน

            พ.ร.บ. ฉบับที่ 3 เกิดขึ้นในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้ประชาชนได้รับการประกันสุขภาพ ซึ่งนับว่าเป็นที่ถูกใจของประชาชนทั่วประเทศคือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือที่เรียกว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” นับว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

            โดย พ.ร.บ. นี้กำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ โดยหัวหน้า สปสช. คือเลขาธิการ สปสช. ประธานกรรมการบอร์ดคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

            พ.ร.บ. ฉบับที่ 4 เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติในยุค คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) คือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้บริหารงาน มีหัวหน้าสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คือ เลขาธิการสช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ

            เนื่องจากสำนักงานตาม พ.ร.บ. เหล่านี้มีชื่อย่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “ส.” และมีลักษณะการก่อตั้งและการบริหารงานในรูปแบบเดียวกัน เพราะเชียน พ.ร.บ. เลียนแบบกันมา จึงเรียกว่าองค์กรตระกูล ส. มี พ.ร.บ. รองรับ เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เฉพาะ ไม่ใช่หน่วยงานราชการ มีการสรรหาคณะกรรมการและหัวหน้าสำนักงาน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของประธานกรรมการ แต่ทำงานตามมติของคณะกรรมการ

            ฉะนั้นกลุ่มที่สามารถ “คุมเสียง” ของกรรมการเป็นเสียงส่วนใหญ่ก็จะสามารถเป็นผู้กำหนดทิศทางและกำหนดผลงานได้เอง ฝ่ายข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมืองไม่มีอำนาจสั่งการ ถึงแม้จะเป็นประธานกรรมการก็มีเพียง 1 เสียง เท่ากับกรรมการคนอื่น ๆ

            จึงเห็นได้ว่า กลุ่มสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทที่มีส่วนร่าง พ.ร.บ. เหล่านี้จะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในบทเฉพาะกาล ให้กลุ่มพวกของตนเข้ามาเป็นกรรมการชุดแรก เพื่อมากำหนดระเบียบปฏิบัติของสำนักงานได้เอง กำหนดตัวหัวหน้าสำนักงานและการสรรหากรรมการได้เอง ถึงแม้จะมีการกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งจากข้าราชการประจำ หรือข้าราชการการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แต่กรรมการโดยตำแหน่งเหล่านี้อาจจะส่งผู้แทนมาประชุมไม่ซ้ำหน้า และอาจไม่ได้สนใจในระเบียบวาระการประชุม

            ทำให้สมาชิกชมรมแพทย์ชนบทและพวกพ้องสามารถ “กุมบังเหียน” สำนักงานเหล่านี้ได้มาเกือบตลอดเวลาของอายุขัยของสำนักงานเหล่านี้

            ถึงแม้จะมีการสรรหากรรมการตามวาระ แต่กลุ่มสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทและผู้ใกล้ชิดก็จะสามารถเข้ามาเป็นกรรมการจนมีเสียงข้างมากได้เสมอ รวมทั้งมาเป็นเลขาธิการและผู้อำนวยการสำนักงานได้เต็มที่อย่างน้อย 2 วาระ (8 ปี) ตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. นั้น ๆ ทุกคน และเมื่อครบวาระจากกรรมการในสำนักงานหนึ่งก็ย้ายไปเป็นกรรมการในอีกสำนักงานหนึ่ง หรือบางคนก็เป็นกรรมการในหลาย ๆ สำนักงานพร้อมกัน

            ทั้ง 4 หน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ โดย สวรส. เป็นองค์กรแม่ที่ นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า “สวรส. ออกลูกได้” เนื่องจาก สวรส. ได้จัดตั้งองค์กรลูกอีกมากมายที่ตั้งขึ้นในสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นองค์กรหลาย ๆ องค์กรที่เรียกว่า “เครือสถาบันของ สวรส.” ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ว่ามี "เครือสถาบัน" ใดบ้างจาก http://hsri.or.th

            ทั้งนี้องค์กรเหล่านี้ตั้งขึ้นโดยการประสานงานจาก นพ.ประเวศ วะสี ผู้นำหรือที่ปรึกษาคนสำคัญที่สุดของชมรมแพทย์ชนบท(6,7,8) ไปถึงรัฐบาลในยุคต่าง ๆ กันที่กำลังมีอำนาจบริหารประเทศในแต่ละยุคแต่ละสมัย เพื่อตราพระราชบัญญัติต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เพื่อตั้งองค์กรตาม พ.ร.บ. นั้น ๆ
            โดยองค์กรต่าง ๆ นั้นอาศัยหลักเกณฑ์คล้ายคลึงกันในการบริหารองค์กรตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติที่พวกเขาเขียนไว้เอง ให้มีหลักการคล้ายกันคือ มีเงินงบประมาณดำเนินการจากเงินงบประมาณแผ่นดิน มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการ มีเลขาธิการหรือผู้อำนวยการเป็นผู้รับผิดชอบบริหารงาน และมีระเบียบการบริหารงานและงบประมาณโดยอิสระที่คณะกรรมการเป็นผู้กำหนด
            และที่สำคัญก็คือ บุคคลที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มตระกูล ส. จะเข้ามาเป็นกรรมการบอร์ด เป็นเลขาธิการหรือผู้อำนวยการ มีกลุ่มองค์กรเอกชน (NGO) ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งของกลุ่มตระกูล ส. เอง เรียกว่าเป็นแนวร่วมของกลุ่มตระกูล ส. ร่วมเป็นกรรมการ และคนเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเป็นกรรมการในองค์กรเหล่านี้ซ้ำกันไปมา เพื่อให้สามารถควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพวกตน โดยไม่ฟังเสียงคนกลุ่มอื่นที่ทำงานในภาคการสาธารณสุขด้วยกัน

การยึดอำนาจในการบริหารระบบสาธารณสุข

            การยึดกุมอำนาจในองค์กรตระกูล ส. ดังกล่าวของสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทและสหาย (ที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร) ทำให้องค์กรตระกูล ส. สามารถกำหนดทิศทาง แนวนโยบาย กำหนดรายการยา รายการรักษาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพ กำหนดการจ่ายเงินให้แก่ “หน่วยบริการ” (ซึ่งมากกว่า 90% ของหน่วยบริการก็คือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ รวมทั้งรวบอำนาจในการ “ซื้อยา” เพื่อมาแจกจ่ายให้ “หน่วยบริการ” ทั้ง ๆ ที่ พ.ร.บ. นี้ไม่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสปสช. รวมทั้งการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเอามาใช้เป็นสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ทั้ง ๆ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชี้ว่าผิดกฎหมาย รวมทั้งความผิดในประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งการบริหารสำนักงานรวมเป็น 7 ประเด็นของเลขาธิการ สปสช. แต่ก็ไม่มีการพิจารณาโทษ แต่ยังได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการเป็นสมัยที่ 2

            ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการทำงาน แม้เงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรก็ต้องไปขอมาจาก สปสช. นับว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่วิปริตผิดแปลกไปจากกระทรวง ทบวง กรม อื่น ๆ ในประเทศไทยที่ไม่สามาถขอรับงบประมาณในการทำงานในความรับผิดชอบของกระทรวงได้ ต้องไปอยู่ใต้อาณัติของนายคนที่ 2 คือ สปสช. และ สปสช. ยังคิดโครงการรักษาโรคเฉพาะ โดยการจัดทำโครงการเองเพื่อกำหนดให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทำตามที่ สปสช. กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจึงจะ “ได้เงินมาทำงาน”

            นอกจากนั้น สวรส. ก็จะอ้างงานวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุนความเห็นของตนว่า ยาอะไรสมควรใช้ ยาอะไรไม่สมควรนำมารักษาผู้ป่วยในบางโรคทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคนั้น ๆ เอาไปเสนอให้ สปสช. กำหนดรายการยาที่ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพจะใช้ได้ และยังเอาไปเสนอกรมบัญชีกลางให้ตัดรายการยาที่ข้าราชการเคยได้รับออกจากบัญชียาหลัก ทำให้ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการเดือดร้อนอีกด้วย

            ส่วน สช. ก็จะจัดประชุมสมัชชาสุขภาพหลาย ๆ ระดับ เพื่อเอามาเสนอรัฐบาลเป็นนโยบายในการบริหารระบบสาธารณสุข รวมทั้งเสนอแนวทางเรื่องอัตรากำลังของบุคลากรสาธารณสุข ตามที่พวกเขาเขียนไว้ในธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติว่า ข้อเสนอจาก สช. นั้น รัฐบาลต้องนำไปปฏิบัติ

            ทั้งหมดนี้เป็นการเขียนกฎหมายเพื่อให้สถาบันตระกูล ส. มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย งบประมาณ และควบคุมการดำเนินการในระบบสาธารณสุข ทั้งที่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือทำนอกเหนือเกินเลยกว่าที่กฎหมายบัญญัติ โดยสถาบันเหล่านี้จะได้รับงบประมาณในการดำเนินการตามที่พวกตนต้องการ

            กลุ่มบุคคลในตระกูล ส. ยังมีพฤติกรรมแฝงนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์จากเงินงบประมาณของสถาบันเหล่านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาเป็นกรรมการ หรือเข้ามาขอรับงบประมาณสนับสนุนในการทำโครงการต่อเนื่องจากโครงการของสำนักงานนั้น ๆ เช่น สวรส. สปสช. หรือ สสส. ทำให้งบประมาณแผ่นดินที่ควรจะดำเนินการให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ กลับมาตกเป็นผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยไม่ตกเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน(6,7,8)
            และคนเหล่านี้ยังแสวงหาผลประโยชน์อื่น ๆ ที่สามารถแสวงหามาได้ จากการที่พวกตนมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสาธารณสุข โดยการออกกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขต้องปฏิบัติตาม

 

ผู้บริหารองค์กรตระกูล ส. ต้องการรวบอำนาจบริหารระบบสาธารณสุขไว้ในกลุ่มของพวกตน

          บุคคลสำคัญที่ร่วมก่อตั้งองค์กรตระกูล ส. ที่นับเป็นแกนนำหรือผู้นำคนสำคัญหรือผู้บริหารสำนักงานตระกูล ส. ยังมีความต้องการที่จะดำเนินการต่อเนื่องในการที่จะ “ควบคุม” การบริหารงานเกี่ยวกับการสาธารณสุขแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวในที่ประชุมสัมมนาของแพทยสภาในหัวข้อ “แปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ว่า “ความเสี่ยงของกระทรวงสาธารณสุข” คือ
            1. สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย
            2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเป็นผู้ “บริหารเงินงบประมาณ”
            3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ “ให้บริการสาธารณสุข”
            แปลว่าไม่ต้องมีกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไปแล้วในอนาคต เพราะ 3 หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นนี้จะรับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตอนนี้ทำสำเร็จใน 2 ขั้นตอนคือ สช. เสนอนโยบาย และ สปสช. บริหารงบประมาณ เป็นการรวบอำนาจการบริหารงบประมาณไปอยู่ในการควบคุมของ สปสช. (ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่มีงบประมาณในการทำงาน โดยต้องไปขอจาก สปสช.) จะรักษาผู้ป่วยหรือดำเนินการอย่างไรก็อยู่ภายใต้การกำหนดกฎเกณฑ์ของ สปสช. ที่รับนโยบายมาจาก สช.

            และตอนนี้กลุ่มคนพวกนี้กำลังดำเนินการเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการ “จัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข” ตามแนวทาง “ปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข” ที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้มอบหมายให้สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้วางแผนการณ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 นำเสนอผ่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อมาผลักดันจะให้มีการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปสาธารณสุขในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556(4,5)

 

ข้อที่น่าสังเกตในแผนการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงสาธารณสุข

            การผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขนี้ เมื่อดูอย่างผิวเผินก็จะเห็นว่าเป็นการเริ่มต้นเพื่อ “แก้ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ” ในการทำงานของโรงพยาบาล สถานีอนามัย และสถานพยาบาลอื่น ๆ ที่เรียกว่า “หน่วยบริการ” ตามคำจำกัดความใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการแบ่งเขตการจัดการด้านบริหารในระบบเขตเพื่อการจัดการด้านงบประมาณร่วมกัน แต่เขตบริการนี้ไม่ใช่เขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แต่ไปจัดกลุ่มตามเขตบริหารของ สปสช. โดยมีบุคลากรของ สปสช. และบุคคลภายนอกร่วมเป็นกรรมการในฐานะ “ผู้ซื้อบริการ”

            ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นผลดี มีความร่วมมือมากขึ้น มีการกระจายงบประมาณข้าม “หน่วยบริการ” ได้ดี แต่กระทรวงสาธารณสุขจะ “ขาดอำนาจ” ในการบริหารราชการตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ดังกล่าวแล้ว เพราะอำนาจเหล่านี้จะถูก “เจือจาง” ไปจากการลดบทบาทมาเป็นเพียงหนึ่งในสามของคณะกรรมการสุขภาพตั้งแต่ระดับชาติ ระดับเขต และระดับจังหวัดและอำเภอตลอดทุกระดับ เหมือนในปัจจุบันที่กระทรวงสาธารณสุขต้องตกเป็นผู้ที่ต้อง “ทำตามคำสั่งของ สปสช” อย่างไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้ สปสช. มีหน้าที่เพียง “จ่ายค่าบริการสาธารณสุขแก่หน่วยบริการ” เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่มากำหนดรายละเอียดการทำงานหรือนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด

 

อันตรายของกระทรวงสาธารณสุขจากการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขตามที่ปลัดกระทรวงเสนอ
            ถ้าอ่านในรายละเอียดของข้อเสนอการสังเคราะห์การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีบทบาทใหม่ในศตวรรษที่ 21 ตามข้อเสนอของ สวรส. นั้นจะพบว่ามีแนวทางจากการเสนอของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ให้เกิดมีคณะกรรมการกำกับนโยบายมาจากส่วนกลางคือ กระทรวงสาธารณสุข แต่จะแบ่งย่อยออกเป็นระดับเขต ระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการบริหารที่มาจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกและผู้เชี่ยวชาญภายใน เป็นการมา “ปฏิรูปที่ปลายทาง” โดยเอาบุคคลภายนอกที่อ้างว่า “เป็นผู้เชี่ยวชาญ” เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ดูเหมือนว่าจะไม่ให้ “ความเชื่อมั่นต่อบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข”

            แต่สิ่งสำคัญที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่แอบแฝงมาก็คงจะเป็นการนำเอา NGO สาธารณสุขที่เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในองค์กรตระกูล ส. มาเป็น “ผู้เชี่ยวชาญภายนอก” เป็นแน่ ตามที่เป็นมาแล้วในองค์กรตระกูล ส.
            ส่วนบุคลากรสาธารณสุขที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากการศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน และมีประสบการณ์หรือทักษะในการทำงาน ก็คงไม่มีสิทธิมีเสียงในการพัฒนาการด้านสาธารณสุข แต่จะมีบทบาทเป็นเพียง “เสียงส่วนน้อย” ในคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ทุกระดับ ในขณะที่กรรมการซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกนั้นน่าจะมาจากบุคคลที่เป็นพวกเดียวกับกลุ่มตระกูล ส. และ NGO สาธารณสุขที่ไม่มีความรู้ไม่ว่าทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากการได้รับการศึกษา ฝึกอบรม หรือการปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาก่อนมาเป็นส่วนสำคัญในคณะกรรมการร่วมกับ สช. และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ซึ่งสภาฯ นี้ก็เป็นหน่วยงานอิสระจากกลุ่ม NGO สาธารณสุข) เข้ามาเป็นเสียงข้างมากในการกำหนดทิศทางการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขต่อไป

 

การรับฟังความเห็นในการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขไม่รวมเอาบุคลากรส่วนใหญ่ของกระทรวง

            จะเห็นได้จากในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมานั้น ผู้ที่ได้รับเชิญเข้าประชุมที่ปรากฏในรูปถ่ายก็คือกลุ่มบุคคลตระกูล ส. ผู้ตรวจราชการและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขบางส่วน กลุ่ม NGO สาธารณสุข และหัวหน้าเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

            ในขณะที่บุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ ไม่ได้รับเชิญให้เข้าประชุมและไม่มีส่วนร่วมคิดหรือร่วมเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข แม้จะบอกว่าจะรับฟังความคิดเห็น แต่ก็คงเหมือนกรณีอื่น ๆ ที่ สช. ทำมาแล้วกับกระทรวงสาธารณสุข เช่น การอ้างว่ารับฟังความคิดเห็นเรื่อง Living Will หรือในการรับฟังความคิดเห็นเรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หรือการเขียน พ.ร.บ. และการจัดตั้งองค์กรตระกูล ส. ต่าง ๆ (และองค์กรลูก) ก็ล้วนทำไปโดยกลุ่มคนตระกูล ส. โดยไม่เคยรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรสาธารณสุขหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มจัดตั้งจากกลุ่มตระกูล ส. แล้วเขาก็นำเสนอให้ผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองให้ตราพระราชบัญญัติหรือดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อเสนอที่พวกเขา “อ้างว่าผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้ว”