ศิริราช ย่นระยะเวลาการตรวจเลือด ด้วยท่อลมขนาดเล็ก ความเร็วสูง
โรงพยาบาลศิริราชเปิดระบบปฏิบัติการเจาะ-ส่งเลือดครบวงจร โดยส่งหลอดเลือดไปยังห้องปฏิบัติการผ่านทางท่อลมขนาดเล็กความเร็วสูง 7 เมตรต่อ 1 วินาที แห่งแรกในเอเชีย เพื่อลดกำลังคนในการนำส่ง ย่นระยะเวลา ทำให้วินิจฉัยได้เร็วขึ้น และผู้ป่วยไม่ต้องรอพบแพทย์นาน
ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีวิสัยทัศน์ในการเป็นสถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดิน มุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากลโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ รวมทั้งลดระยะเวลารอคอยการเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์
ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงมุ่งพัฒนาห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งดำเนินงานด้วยระบบคุณภาพ ISO 15189 มีความสามารถทางวิชาการ ผลการทดสอบหรือสอบเทียบเป็นที่เชื่อถือ สามารถให้บริการการทดสอบตรวจเลือด ปัสสาวะ น้ำคร่ำ เชื้อแบคทีเรียในเลือด และสารคัดหลั่งจากส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย อีกทั้งเกณฑ์การประเมินเป็นที่ยอมรับแก่องค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิก APLAC และ ILAC ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีเลิศ ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ สร้างโอกาสและสามารถแข่งขันกับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และยังเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดการประสานร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพทางห้องปฏิบัติการด้วย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มอบใบรับรองห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ISO 15189 แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจำนวน 42 ห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รับ ISO 15189 มากที่สุดเป็นแห่งแรกของไทยในระดับมหาวิทยาลัย โดยล่าสุดได้นำระบบท่อลมอัตโนมัติขนาดเล็กครบวงจร ซึ่งมีวิธีการส่งหลอดเลือดไปยังห้องปฏิบัติการผ่านทางท่อลม นอกจากจะย่นระยะเวลาและลดกำลังคนแล้ว ยังมีความปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ระบบดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและใช้กันในยุโรป ซึ่งโรงพยาบาลศิริราชตัดสินใจนำเข้ามาใช้เป็นแห่งแรกในเอเชีย
ด้าน รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า เนื่องจากแต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาประมาณ 5,000-6,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องรับการเจาะเลือดตามที่แพทย์ประเมินอาการวันละ 1,700-2,000 คน บ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมาแต่เช้ามืด แต่เนื่องจากห้องเจาะเลือดที่ตึกผู้ป่วยนอกอยู่ห่างจากห้องปฏิบัติการที่ตึกจุลชีววิทยา รวมระยะทางประมาณ 450 เมตร จึงมีปัญหาการส่งเลือด ต้องใช้แรงงานคนในการนำส่ง ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาทั้งผู้รับและผู้ให้บริการแล้ว ยังทำให้ผลการวินิจฉัยล่าช้า และผู้ป่วยต้องคอยนานในการรอพบแพทย์ด้วย
สำหรับระบบท่อลมอัตโนมัตินี้สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดส่งหลอดเลือดให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยใช้แรงดันลมในการนำส่งหลอดเลือดต่อเนื่องกันได้ ผ่านท่อนำส่งขนาด 2.5 ซม. ที่สามารถทนต่อสารทำละลายต่าง ๆ ด้วยความเร็วเคลื่อนที่ 7 เมตรต่อ 1 วินาที มีอุปกรณ์ตรวจจับความไวที่สามารถบอกสถานการณ์ส่งและบอกจำนวนตัวอย่างที่ส่งผ่านท่อไปแล้วได้ นอกจากนี้ยังมีระบบทำความสะอาดภายในท่อ จึงมั่นใจในความปลอดภัยของการใช้งาน
ผศ.นพ.เสถียร สุขพณิชนันท์ หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก กล่าวว่า ระบบท่อลมอัตโนมัตินี้เป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทยอยจัดส่งตัวอย่างเลือดผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง มีความรวดเร็ว ไม่ต้องรอเก็บหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก แล้วให้เจ้าหน้าที่เดินนำส่งห้องปฏิบัติการ ทำให้ห้องปฏิบัติการสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถวิเคราะห์และรายงานผลตรวจเลือดไปยังแพทย์ได้เร็วขึ้น ก่อนการใช้ระบบท่อลมอัตโนมัติ ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก ได้มีการศึกษาผลกระทบต่อการทดสอบเปรียบเทียบกับการส่งด้วยวิธีปกติ และพบว่าไม่มีความแตกต่างกันในการแปรผลการตรวจเลือด