อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน

            ตามที่ได้กล่าวไว้ฉบับก่อน ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน คือ 1. กรรมพันธุ์ 2. เพศชาย 3. อายุ 4. ไขมันในเลือดผิดปกติ 5. เบาหวาน 6. ความดันโลหิตสูง 7. อ้วน 8. ไม่ออกกำลังกาย 9. สูบบุหรี่ 10. อารมณ์เครียด กังวล ตื่นเต้นมากไป ซึ่งทุก ๆ ท่านควรลดความเสี่ยงนี้ด้วยการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้ BMI อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ต่ำกว่า 23) และพุงของผู้ชายน้อยกว่า 90 ซม. หญิง 80 ซม. และควรไปหาแพทย์ตรวจวัดความดันโลหิต ไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือด และถ้าสูงควรทำให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจากทั้งพฤติกรรมและยา

            แต่ถึงแม้มีหรือไม่มีพฤติกรรมที่เหมาะสม ถ้ามีอาการต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน คือ แน่น หนัก เหมือนอะไรมาทับกลางอก หายใจไม่ออก เหงื่อออกจะเป็นลม อาการจะเป็นแบบแน่นมากกว่าเจ็บหรือปวด อาจร้าวไปที่กราม ไหล่ หลัง ลงแขนทั้ง 2 ข้าง ฯลฯ อาการอาจเป็นขึ้นมาทันทีระหว่างอยู่เฉย ๆ หรือขณะที่กำลังออกกำลังกายหรือตื่นเต้นมาก ๆ ถ้าเป็นน้อย ๆ อาจจะมีอาการตอนออกกำลังกาย (เนื่องจากร่างกายต้องการเลือดไปยังกล้ามเนื้อ ฉะนั้นหัวใจจึงขาดเลือด ขณะที่ในยามปกติไม่มีอาการเพราะถึงแม้หลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ถ้าไม่ออกกำลังกาย ความต้องการเลือดของหัวใจจะพอดีกับปริมาณที่เลือดจะผ่านหลอดเลือดที่ตีบไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้) หรือตอนตื่นเต้น ถ้ามีอาการตอนออกกำลังกายและเป็นไม่มาก เรียกว่า Angina Pectoris อาการแน่นอกจะหายไปภายใน 1-10 นาที ถ้าไม่หายถือว่าเป็นมากกว่านี้

            แต่ที่มีอาการมากจนถึงเสียชีวิตมักเกิดจากการที่หลอดเลือดตีบอยู่แล้วและทันทีทันใดมีการแตกของ plague ไขมันที่พูน งอกเข้ามาในหลอดเลือด หรือมีการถลอกของผนังหลอดเลือดทำให้มีปฏิกิริยาจนทำให้มีการตกเป็นก้อนเลือดและอุดตันหลอดเลือดทันที อาจเกิดขึ้นในช่วงธรรมดาหรือขณะออกกำลังกาย โดยเฉพาะที่ไม่ใช่วิธีการ aerobic (แอโรบิก) เช่น เทนนิส แบดมินตัน สควอช หรือฟุตบอล ฯลฯ ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ทันที การจัดการกับผู้ป่วยในขณะนี้คือ ปั๊มหัวใจตรงกลางอกและเป่าปากเป็นระยะ ๆ จนกว่าหน่วยกู้ชีพจะมาถึง การช่วยผู้ป่วยในระยะนี้ถือว่าสำคัญมาก ผมอยากเห็นคนไทยทุก ๆ คนทำการกู้ชีพ (CPR หรือ cardio pulmonary resuscitation) เป็น เพราะอาจช่วยชีวิตเพื่อนร่วมชาติได้ ผู้ที่เคยเรียน ร.ด. จบทหาร สอบใบขับขี่ผ่าน ฯลฯ ควรได้รับการฝึกอบรมเรื่อง first aid (ปฐมพยาบาลเบื้องต้น) เป็นอย่างดียิ่ง ตราบใดที่มีการทำ CPR ผู้ป่วยก็ยังอาจฟื้นคืนชีพมาได้ ถ้าสมองยังได้รับเลือดที่ผ่านปอดอยู่ตลอดเวลา

            แต่ผู้ป่วยโรคนี้อาจไม่มีอาการดังกล่าว แต่อาจมีอาการเหนื่อยง่าย ฉะนั้นผู้ที่ทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ และแต่ก่อนไม่เคยเหนื่อย แต่เดี๋ยวนี้เหนื่อยง่าย เช่น วิ่งแล้วเหนื่อย เดินเร็ว ๆ ก็เหนื่อย เดินขึ้นบันไดก็เหนื่อย ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อการตรวจวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง ผมเคยมีเพื่อนที่เหนื่อย ไปทำกราฟหัวใจระหว่างการออกกำลังกาย ซึ่งก็ปกติ แต่ต่อมาเป็นโรคหัวใจ ฉะนั้นการวินิจฉัยโรคไม่ได้อยู่ที่การทำการตรวจต่าง ๆ เท่านั้น แต่อยู่ที่การซักประวัติที่ดี ที่ถูกต้อง รวมทั้งการตรวจร่างกายที่เป็นระบบและละเอียดด้วย

            ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ไม่ควรรอจนหาย หรือไปพรุ่งนี้ ถ้าไม่หายภายใน 10 นาทีควรไปเลย ถ้าหายก็ยังควรที่จะไป เพราะถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ถ้าไปพบแพทย์ทันทีหรือภายใน 3 ชั่วโมงอาจให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ สมัยนี้อาจฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจทันที (coronary angiography) เพื่อดูว่ามีการอุดตันหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ ที่ไหน กี่หลอดเลือด ถ้ามีการอุดตันหรือตีบ 1-2 หลอดเลือด แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยการใช้ balloon ขยายหลอดเลือดที่ตีบทันทีเลย และใส่ท่อ (stent) ค้ำให้รูหลอดเลือดเปิดไว้ ปกติถ้ามีการตีบ 1-2 หลอดแพทย์มักใช้วิธีนี้ หรือที่เรียกกันว่า PCI (percutaneous coronary intervention) แต่ถ้ามีการตีบของหลอดเลือด 3 หลอด หรือหลอดเลือดที่สำคัญเพียงหลอดเดียว แพทย์อาจทำการผ่าตัดที่เราเรียกว่า bypass (coronary artery bypass grafting, CABG) ให้เลย ทั้งนี้แล้วแต่เป็นมาก เป็นน้อย กี่หลอดเลือด แล้วแต่แพทย์ แล้วแต่กรณี ฯลฯ